Saturday, August 6, 2011

ผู้หญิง กับรางวัลในโลกวรรณกรรม





หากจะบอกว่าในโลกวรรณกรรม ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย ก็ดูจะเป็นคำพูดที่ไม่ยอมรับความจริง ถ้าวัดกันจากรางวัลวรรณกรรม ปริมาณนักเขียนชายผู้ครอบครองรางวัลจะมากกว่านักเขียนหญิง ไล่มาตั้งแต่ โนเบล ยัน ซีไรต์
ทำไมเป็นเช่นนั้น
ถ้าจับเฉพาะวรรณกรรมไทย ข้าพเจ้ามองว่า
อาจจะเพราะสายตาของสังคม เป็นสายตาแบบเพศชาย และเชื่อว่าการเขียนงานวรรณกรรมที่แสดงความยิ่งใหญ่ ประเด็นสำคัญท้าทาย มองออกไปภายนอก จับต้องปัญหาใหญ่ของโลก ของสังคม หรือแม้กระทั่งโลกภายในของมนุษย์ในแบบเพศชาย อันมักเป็นความขัดแย้งของมนุษย์กับอุดมการณ์ หรือกับสังคม มุมมองเชิงวรรณกรรมในประเภทนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่า ในฐานะวรรณกรรมที่มีคุณค่า
ส่วนงานเขียนบางส่วนของนักเขียนหญิง มักมีประเด็นความเป็น “ส่วนตัว” สูง มองโลกเข้าสู่ด้านใน ตัวตนของผู้หญิง ครอบครัว ความขัดแย้งระหว่างสถานะทางเพศกับสังคมและอุดมการณ์ และปัญหาใน ครอบครัว ซึ่งหลายคนตีความเอาว่า เป็นเรื่อง “น้ำเน่า” นำเสนอแต่เรื่องผัวๆ เมียๆ
ที่จริงตอนนี้เริ่มมีวรรณกรรมเพศที่สามมากขึ้นแล้ว และเป็นที่จับตาของนักวรรณกรรรมไทยอยู่มาก เพียงแต่วรรณกรรมเพศที่สามนี้ ยังคงกำลังพัฒนาขั้นแรกเริ่ม และยังไม่ได้ให้ภาพในเชิงลึก หรือเพื่อการวิเคราะห์ได้มากนัก
กลับมาเรื่องวรรณกรรมของนักเขียนหญิง กับนักเขียนชาย
เมื่อนักเขียนชาย ครอบครองรางวัลเสียเกือบหมด โลกวรรณรรมจึงจำต้องแบ่งแยกเพศในวรรณกรรม ด้วยการตั้งรางวัลเฉพาะนักเขียนหญิงขึ้นมา เพื่อผลักดัน และส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีโอกาสในโลกวรรณกรรมมากขึ้น
ในประเทศไทยเอง ก็มีความพยายามจะก่อตั้งรางวัลเพื่อนักเขียนหญิง เช่น รางวัล อ. ไชยวรศิลป์ เป็นการประกวดเรื่องสั้นของนักเขียนหญิง ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ อ. ไชยวรศิลป์ ซึ่งเป็นนักเขียนหญิงรุ่นแรกๆ ที่นำเสนอปัญหาของเพศหญิงอย่างชัดเจน แต่น่าเสียดายที่รางวัลนี้ไม่ค่อยโด่งดัง และเหมือนจะเงียบๆ ไปแล้วด้วย
อีกรางวัลที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ใช้ชื่อว่า รางวัลชมนาด เป็นรางวัลที่มอบให้กับต้นฉบับนวนิยายของนักเขียนหญิง (แปลว่า เรื่องที่ส่งประกวดต้องเป็นต้นฉบับ ยังไม่ผ่านการตีพิมพ์)
ในระดับโลก รางวัลที่โดดเด่นที่สุด คือ รางวัล ออเรนจ์ ไพรซ์ หรือ ชื่อเต็มว่า The Orange Broadband Prize for Fiction เป็นรางวัลของประเทศอังกฤษ มอบให้กับนวนิยายของนักเขียนหญิง (หมายความว่า ตัดสินจากนวนิยาย เรื่อง ของ นักเขียนหญิง ไม่ได้คัดเลือกจากตัวนักเขียนหญิง เข้าทำนองเหมือนรางวัลซีไรต์นั่นเอง) เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1996 มอบต่อเนื่องทุกปี จึงได้รับการยอมรับ และมีชื่อเสียงติดหูคอวรรณกรรม ที่สำคัญก็เพราะเป็นรางวัลของนักเขียนผู้หญิง นั่นเอง ซึ่งเมื่อปี 2005 ได้แยกสาขาสำหรับนักเขียนหญิงหน้าใหม่ อีก 1 รางวัล ในชื่อรางวัล Orange Award for New Writers และยังมีรางวัลสำหรับกลุ่มนักอ่านอีก 1 รางวัล ในชื่อรางวัล The Penguin Orange Readers' Group Prize (โดยการสนับสนุนของสำนักพิมพ์เพนกวิน ผู้โด่งดังเรื่องการจัดพิมพ์วรรณกรรม) เป็นการกระตุ้นให้เกิดการอ่านเชิงวิจารณ์ให้เป็นแฟชั่นไปอีกแบบ
สำหรับ ปี 2009 นี่ คณะกรรมการรางวัลออเรนจ์ ไพรซ์ได้ประกาศรายชื่อนวนวนิยายของนักเขียนหญิง ที่เข้ารอบสุดท้ายแล้ว คือ
นวนิยายเรื่อง Scottsboro เขียนโดย Ellen Feldman เรื่องของเด็กชายผิวดำ 9 คนที่ถูกจับฐานวิวาทกับเด็กผิวขาว แต่เหตุการณ์นี้มีกลับมีกรณีเด็กผู้หญิงผิวขาวถูกข่มขืนด้วย เรื่องราวทั้งหมดถูกเชื่อมโดยนักข่าวสาวที่พยายามจะช่วยเด็กชายผิวดำให้รอดพ้นจากโทษประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า และเด็กหญิงผิวขาวนั้นเองที่จะต้องพูดความจริง

นวนิยายเรื่อง The Wilderness เขียนโดย Samantha Harvey เรื่องของชายวัย 60 ชื่อ เจค ที่มองย้อนกลับไปถึงอดีตของตนเอง ตั้งแต่วัยเด็ก การแต่งงาน การทำงาน การสูญเสียภรรยา และลูกชายติดคุก และ เจคเป็นอัลไซเมอร์

นวนิยายเรื่อง The Invention of Everything Else เขียนโดย Samantha Hunt เรื่องของนักวิทยาศาสตร์ชาวเซอเบีย ความรักระหว่างพ่อกับลูกสาว ผสมผสานกับเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์

นวนิยายเรื่อง Molly Fox's Birthday เขียนโดย Deirdre Madden เรื่องของ นักแสดงสาว มอลลี่ ฟ็อกซ์ กับเพื่อนนักเขียนบทละคร ที่จะสะท้อนตัวตนและชีวิตของเธอออกมาในบทละคร เรื่องราวแสดงให้เห็นว่าอดีตสร้างปัจจุบันอย่างไร

นวนิยายเรื่อง Home เขียนโดย Marilynne Robinson เรื่องราวของครอบครัวของแจ๊ค เมื่อแจ๊คกลับมาบ้านในตอนอายุ 20 ปี เขาพบเจอกับอะไร ความพยายามแก้ปัญหา และปรับตัว จากวัยเด็กที่เสียค น ติดเหล้า ตกงาน และต้องมาพบกับเรื่องราวของน้องส่าวที่ต้องทุกข์ทรมานกับชีวิต

นวนิยายเรื่อง Burnt Shadows เขียนโดย Kamila Shamsie เรื่องเล่าผ่านฮิโรโกะ ทานากะ หญิงสาวชาวญี่ปุ่น เรื่องราวที่ผูกเชื่อมสงครามจากนางากิ มาถึงเหตุการณ์ 911 ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน

นวนิยายทั้ง 6 เรื่อง ของนักเขียนหญิงทั้ง 6 คน ล้วนสอดแทรกประเด็นของผู้หญิงไว้ บางเรื่องให้ตัวละครหญิงเล่าเรื่อง ประเด็นของโลกและสังคม ก็เชื่อผ่านตัวละครเพศหญิงได้เช่นกัน มิใช่ว่าจำกัดเฉพาะเพศชาย เรื่องที่โดดเด่นน่าจะเป็น Burnt Shadows ของ Kamila Shamsie โดยตัวผู้เขียนเองก็เป็นชาวการาจี มีมุมมองแบบเอเชีย สะท้อนทั้งปัญหาสงคราม ปัญหาโลก และปัญหาของผู้หญิง ส่วนเรื่อง Scottsboro เขียนของ Ellen Feldman ก็น่าสนใจ เพราะมีทั้งประเด็นเรื่องเพศ และผิว
ความโดดเด่นของประเด็นในงานวรรณกรรมของนักเขียนหญิง ทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ว่า โลกนี้มิได้มีแค่สายตาแบบเพศชาย แต่ในสายตาของเพศหญิง ก็มองโลกได้ในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นมุมที่คุณนึกไม่ถึงก็ได้
ถ้าทุกประเทศในโลก ให้การสนับสนุนให้มีรางวัลสำหรับนักเขียนหญิงก็น่าจะดี

Saturday, August 1, 2009

ลูกหมีแพนด้า ลูกหมา ลูกคน



ท่ามกลางสงครามข่าวบันเทิงน้ำเน่า และข่าวการเมืองที่กำลังพัฒนาทางการเมืองอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ข่าวแม่หลินฮุ่ย ดูจะเป็นข่าวดีของประเทศโลกที่สาม อย่างประเทศไทย (ยอมรับเความจริงเหอะ ถ้าอยากเรียกให้น่ารักก็เรียกว่า ประเทศกำลังพัฒนา)

ไม่รู้ว่าทำไมประเทศที่ร้อนตับแล่บอย่างประเทศไทย จะเอาหมีแพนด้ามาเลี้ยงเพื่ออะไร แต่ก็เรียกว่าเป็นการเลี้ยงที่ประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะตอนแรกแค่คาดว่าจะท้อง ไปๆ มาๆ กลับคลอดลูกออกมาเสียให้ตื่นเต้นตะลึงกันทั้งประเทศ ชั่วคืนเดียว เราก็พบว่า มีลูกหมีแพนด้ามาเกิดในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว 1 ตัว

หลินฮุ่ย ได้เป็นคุณแม่หมี ที่คนทั้งโลกจับตามอง สถานะแม่ของหลินฮุ่ย ช่างได้รับการยกย่อง เชิดชู ใส่ใจ ภาพถ่ายแม่หลินฮุ่ยรักลูก ท่วงท่าคาบลูก อุ้มลูก เป็นช็อตเด็ดแพร่ไปทั่วโลก เป็นที่ชื่นชม กรี๊ดกร๊าดของชาวไทย สัญชาตญาณของสัตว์ในการเลี้ยงลูก ได้รับการยกย่องว่าเป็นความรักอันแสนบริสุทธิ์ของคุณแม่หมีแพนด้า

สถานะแม่ของหลินฮุ่ยจึงดูน่าอิจฉาเสียนี่กระไร

เห็นลูกหมีแพนด้า ก็ให้นึกถึงลูกหมาข้างถนน คนไทยมีนิสัยใจบุญ เห็นลูกหมาข้างถนน ก็มักจะสงสาร เอาข้าวเอาปลาไปเลี้ยง ใครมีกำลังก็อุ้มลูกหมากลับไปเลี้ยงบ้านเสียด้วย แม่หมาเป็นแม่ที่ได้รับความสงสาร เห็นใจมากอยู่ทีเดียว ไม่ยักมีใครโทษแม่หมา ว่าเป็นหมาใจแตก ท้องไม่มีพ่อ น่าสมน้ำหน้า วิธีป้องกันของคนทั่วไปก็คือ พาแม่หมาไปทำหมันเสีย จะได้ไม่ต้องท้องอีกต่อไป

แต่สัญชาตญาณการเลี้ยงลูกของแม่หมาก็ทำให้คนชื่นชมอยู่บ้าง แม่(คน)คนไหนทิ้งลูกมักโดนเทียบกับแม่หมา ว่า หมามันยังรักลูกของมัน แปลว่า เป็นแม่คนที่เลวกว่าแม่หมา เพราะทิ้งลูกตัวเอง ดูเถิดดู แม่หมายังสูงค่ากว่าแม่คน

แล้วแม่คนล่ะ
เรื่องที่จะเล่านี้ เป็นเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่ง วัยผ่านเบญจเพสมาแล้ว เด็กสาวคนนี้เกิดความผิดพลาดในการมีสัมพันธ์กับชายหนุ่ม ที่ต่างฝ่ายต่างไม่รักกัน แต่กลับกำเนิดสิ่งมีชีวิตในท้อง เธอกำลังเป็นแม่ รู้ตัวก็เมื่อสิ่งมีชีวิตเติบโตมา 2 เดือนกว่าแล้ว

“หายนะ” เป็นสิ่งที่เธอคิด และตั้งใจมั่นว่า ต้องหยุดยั้งสถานะความเป็นแม่โดยไม่พร้อม พูดง่ายๆ ก็คือ เธอตั้งใจจะไปทำแท้ง

แต่เมื่อเห็นสิ่งมีชีวิตในท้องของเธอแล้ว เธอก็เปลี่ยนใจ เธอจะเก็บสิ่งมีชีวิตของเธอไว้ แม้ว่าเธอจะเป็นพียงเด็กสาวครอบครัวมีปัญหา การงานไม่มั่นคง เงินเดือนไม่น่าจะพอเลี้ยง แต่เธอก็คิดว่าเธออยากเก็บสิ่งมีชีวิตนี้ไว้

สำหรับข้าพเจ้า การเลือกของเธอเป็นการเลือกที่กล้าหาญ เพราะเธอต้องเผชิญกับคำถามมากมายจากสังคม เช่น ท้องกับใคร ใครเป็นพ่อเด็ก จะทำยังไง จะเลี้ยงยังไง จะไหวเหรอ ฯลฯ สังคมไม่ให้โอกาสเด็กสาวตัวคนเดียวตั้งครรภ์ เพราะสังคมคิดไปแล้วว่า เด็กสาวตัวคนเดียวคงไม่มีปัญญาเลี้ยงลูก

หากเด็กสาวคนนั้นเลือกจะยุติการตั้งควรรภ์ ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าจะว่าความคิดของเธอ เพราะโดยเหตุผลทางสังคมแล้ว เธอมีเหตุผลสมบูรณ์ในการยุติบทบาทสถานะความเป็นแม่

แต่เธอเลือกจะเป็นแม่คน
การเลือกจะเป็นแม่คนของเธอ ช่างเป็นเรื่องยุ่งยาก อย่างที่บอก ด่านแรกคือ คำถามจากสังคม ต่อมาคือกระบวนการเข้าสู่โรงพยาบาล และการดำเนินชีวิตต่อไปโดยต้องบอกทุกฝ่ายว่า ท้องไม่มีพ่อ

เธอบอกว่า เธออยากเป็นหลินฮุ่ย ดูสิ หลินฮุ่ยรักลูก เธอก็รักลูกของเธอ เป็นสายสัมพันธ์ของแม่ลูกที่เธอค้นพบ เธอต้องการเลี้ยงลูก เธอไม่ใช่แม่ใจร้าย เธอก็เหมือนแม่หมา ที่ไม่รู้ชะตากรรม

แต่ในฐานะมนุษย์เพศหญิงผู้แบกท้องโตๆ โดยไม่มีพ่อ เธอกลับกลายเป็นคนที่สังคมไม่ช่วยเหลือ ถูกมองด้วยสายตาหยามหมิ่นว่าท้องไม่มีพ่อ เพื่อนฝูงพยายามนำเสนอว่าให้ยุติการตั้งครรภ์จะดีที่สุด เธอเริ่มรู้สึกว่า การเป็นแม่โดดๆ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมยอมรับ กลายเป็นตราบาปของเธอ ทั้งที่เธอเลือกจะเก็บสิ่งมีชีวิตไว้

ในช่วงเวลาที่หลินฮุ่ยได้รับการยกย่องเหลือเกิน เด็กสาวคนนี้กลับต้องอยู่กับคำถามว่า เธอจะเป็นแม่คนดีหรือไม่

Thursday, June 11, 2009

ตัณหา กับอำนาจ




กรณีเด็กชายชาวอังกฤษอายุ 13 ปี มีลูกกับเด็กสาวอายุ 15 ปี เป็นข่าวสั่นสะเทือนสังคมอังกฤษอยู่หลายวัน (แม้ว่ากระแสข่าวระยะต่อมาจะมีเด็กหนุ่มอีกหลายคนสงสัยว่า ตนเองอาจจะเป็นพ่อเด็ก ไม่ใช่พ่อหนุ่มอายุ 13 คนที่เป็นข่าว) ยังไม่นับข่าวอื้อฉาวของครูสาว ทั้งที่อังกฤษ ที่มีเพศสัมพันธ์กับนักเรียนเกรด6 หรือครูสาวออสเตรเลีย ที่มั่วสุมกับนักศึกษาแถมด้วยการเปลือยอก และครูสาวเยอรมัน ใส่ชั้นในเต้นให้เด็กนักเรียนอายุ 15 ปี ดู ส่วนประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้า ด้วยข่าวเด็กนักเรียนอายุ 13 ปี มีเพศสัมพันธ์กับครูอายุ 29 ปี ตามด้วยข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงา กรณีมีคลิปแม่อายุ 40 กับลูก อายุ 14 แพร่หลายในอินเทอร์เน็ต

กรณนี้ สั่นสะเทือนสังคมไทย เกิดคำถามถึงจริยธรรม ความเหมาะสม ของการแสดงออกทางเพศในสังคมไทย อย่างมาก และเกิดวงเสวนา สัมมนา หลายวง เกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทย

ข้าพเจ้ามีมุมมองที่อาจจะ “หาเรื่อง” สักหน่อย โดยขอมองอย่างเท่าเทียม ทั้งหญิง ชาย และเด็ก
ข้อแรก เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

กรณีนี้ ข้าพเจ้ามีข้อสงสัยเสมอมา ว่า “วัยอันควร” อยู่ที่ไหน แต่ละสังคม และแต่ละยุคสมัย ก็มี “วัยอันควร” ที่แตกต่างกัน สังคมชนบทจะนิยมให้แต่งงานกันตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อจะได้ช่วยกันทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวกันเสียตั้งแต่ยังมีกำลัง แม้กระทั่งสังคมไทยในชนบทปัจจุบัน การแต่งงานตั้งแต่ยังไม่พ้นเด็กหญิง ก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ถือว่าผิดปกติ ญาติของคนข้างบ้านของข้าพเจ้า ก็แต่งงานตอนอายุ 14 ย่าง 15 เจ้าบ่าวอายุ 16 ปี เธออยู่แค่จังหวัดฉะเชิงเทรานี่เอง ไม่ได้บ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไหน เป็นการแต่งงานที่ผู้ใหญ่เห็นชอบทั้งสองฝ่าย

แต่วัยอันควร ของ “คนเมือง” มีปัจจัยที่มากกว่านั้น การแต่งงานไปขึ้นกับ “การศึกษา” ต้อง “เรียนให้จบ” จึงเหมาะสมที่จะมีครอบครัว เป็นวัยอันควรที่จะมีครอบครัว แต่ไม่ได้หมายถึงวัยอันควรที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ไม่สามารถหักห้ามได้ ดังนั้น ก่อนจะมีครอบครัวเป็นตัวเป็นตน ธรรมชาติ หรือจะกล่าวโดยเจาะจงก็คือ “ตัณหา” ของหนุ่มสาวย่อมทำงานตามกลไก และนั่นนำไปสู่การ “ทดลองมีชีวิตคู่” โดยไม่ต้องรับผิดชอบอนาคต เพราะว่ายังไม่ถึง “วัยอันเหมาะสมที่จะมีครอบครัว” นี่เอง ที่เป็นช่องทางให้เด็กวัยรุ่น มีโอกาสที่จะ “อ้าง” ความเหมาะสมทางสังคม เพื่อนจะเปลี่ยนคู่สนองตัณหาไปได้จนกว่าจะถึงวัยเหมาะสม ไม่ต้องมีความรับผิดชอบคู่ชีวิตแบบที่ต้องช่วยกันทำมาหากินสร้างอนาคต อย่างสังคมชนบท แถมยังปิดบังผู้ใหญ่ และอาจจะเกิดปัญหาทำแท้งตามมาด้วยซ้ำ

ข้าพเจ้าจึงอยากให้มองอย่างยุติธรรมแก่เด็ก ว่า ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ และครอบครัวมีหน้าที่จะต้องสอนให้เด็กรู้จัก “ความรับผิดชอบทางเพศ” การกระทำใดๆ ย่อมมีผลผูกพัน และต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่อ้าง “ความเหมาะสมของการสร้างครอบครัว” เพื่อการสำส่อนทางเพศ

ข้อสอง เด็กมีความกระหายใคร่รู้ทางเพศ ในขณะที่มีสื่อลามกมากมาย และเข้าถึงได้ง่ายกว่าอดีต

เป็นเรื่องปกติ ที่เด็กที่ย่างเข้าสู่วันรุ่นจะมีความกระหายใคร่รู้ทางเพศ ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ซึ่งสำหรับเด็กสาว ก็มักนำภัยมาสู่ตัวโดยง่าย เช่นตกเป็นเหยื่อของพวกที่ฉกฉวยโอกาสนี้ล่อลวงไปข่มขืน อนาจาร ในขณะที่เด็กชาย อาจจะกระทำการลวนลาม อนาจารเด็กที่อายุต่ำกว่า เช่นที่เคยมีข่าวว่าเด็กชายข่มขืนเด็กหญิงชั้นประถม โดยเด็กอ้างว่าเกิดจากการดูหนังโป๊

ต้องยอมรับว่า สื่อลามก ช่างเป็นสื่อที่สนองตัณหาและจินตนาการทางเพศอย่างเหนือจริง เซียนหนังโป๊คงไม่ปฏิเสธเลย ว่า พล็อตเรื่องแบบครูลูกศิษย์ สาวแก่เด็กหนุ่ม ชายแก่เด็กสาว มีให้เห็นมากมาย เหล่านี้ล้วนกระตุ้นจินตนาการทางเพศแบบผิดๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิด “การกระทำทางเพศที่ไม่เหมาะสม” ซึ่งหมายถึงการแอบซ่อน ทำผิดทางเพศ ทั้งแบบที่ถูกล่อลวง และแบบยินยอมพร้อมใจ

แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่า สื่อลามก เป็นปัจจัยเดียวของการกระทำดังกล่าว ครอบครัว การเลี้ยงดู สถาบันการศึกษา เพื่อน และสังคมรอบตัว ก็มีผลอย่างมากต่อวิธีคิดของเด็ก สังคมไทยมักโยนความผิดให้ปัจจัยภายนอก แต่ไม่มองถึงปัจจัยภายใน ที่เกี่ยวกับครอบครัวและการเลี้ยงดู โดยเฉพาะการบ่มเพาะ “ความรับผิดชอบทางเพศ” ในสมองของเด็ก ซึ่งจะเป็น “เกาะป้องกัน” บรรดาสื่อลามกที่มีเพิ่มขึ้น สร้างเกาะในใจ ย่อมดีกว่ามามัวไล่สร้างรั้วป้องกัน ซึ่งดูท่าว่ารั้วจะกันอะไรไม่ได้เลย

ข้อสาม ตัณหากับจริยธรรม

กรณีของเด็กชายอายุ 13 กับ ครูสาวอายุ 29 เป็นตัวอย่างสำคัญ ของเรื่องตัณหา กับจริยธรรม

ในแง่ของสถานะทางสังคมแล้ว ครู มีสถานะเหนือศิษย์ แถมยังมีอายุมากกว่าศิษย์ตั้ง 16 ปี คนเป็นครูย่อมมีวิจารณญาณมากกว่าเด็ก การที่จะเริ่มต้นมีเพศสัมพันธ์กับเด็กนั้น เป็นไปได้ยากมาก ที่เด็กจะเริ่มก่อน แต่ต้องยอมรับว่า เด็กอยู่ในวัยอยากทดลอง และถ้าครูเปิดโอกาส (เรียกอย่างหยาบว่า ให้ท่า) เด็กก็ต้องมองเห็น และต้องการสานต่อ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ครูผู้มีทั้ง อายุ อำนาจและสถานะสูงกว่า จะต้องเป็นฝ่ายควบคุมสถานการณ์ มิใช่กลายเป็นยินยอมพร้อมใจไปกับความอยากทดลองของเด็ก

ย้อนกลับไปถึงกรณีสื่อลามก ที่ก่อให้เกิดจินตนาการทางเพศแบบผิดๆ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดว่า การกระทำเหล่านั้นทำได้ในชีวิตจริง โดยเฉพาะเด็ก ซึ่งยังขาดความยั้งคิด หลงมัวเมาไปกับเรื่องเพศได้ง่าย อยู่ที่จะถูกชักจูง หรือกระตุ้นไปอย่างไร

ข้าพเจ้าก็ไม่อยากจะแฉ แต่เหตุการณ์แบบนนี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น สมัยที่ข้าพเจ้าเรียนหนังสืออยู่ เพื่อนของเพื่อนเป็นครูฝึกสอน และมีข่าวมาว่าหล่อนล่อลวงเด็กชายชั้น ม. 1 มาเป็นทาสรัก แอบในห้องนอนได้ตั้งเป็นเดือน

สิ่งนี้เป็นเรื่องของการช่างน้ำหนัก ระหว่างจริยธรรม กับตัณหา
แล้วทำไม ตัณหา จึงชนะจริยธรรมล่ะ

ข้าพเจ้ามองถึงปัญหาลึกของสังคมไทย ในสังคมไทย การที่เพศหญิงแสดงออกถึงความต้องการทางเพศอย่างชัดเจนจะโดนประณามจากสังคม เช่น เป็นนังแรด เป็นผู้หญิงร่าน เป็นกะหรี่ ยิ่งมีสถานะในทางที่ต้องเป็นแบบอย่างทางสังคม ยิ่งไม่สามารถแสดงออกได้เลยว่า มีความต้องการทางเพศสูง เรียกได้ว่ามีความเก็บกดอยู่ในตัว ดังนั้นการค้นพบทางออกทางเพศที่มีควบคู่กับ “การใช้อำนาจ” ทางสังคม อาจจะทำให้เกิดความรู้สึก “เหนือกว่า” มีอำนาจ และสามารถบงการเรื่องทางเพศได้ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นเสน่ห์เย้ายวนหอมหวาน ที่เพศหญิงบางคนต้องการมาก จนทำให้ต่อมจริยธรรมบกพร่อง ในขณะที่เด็กหนุ่มคู่กรณีก็ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องทางเพศที่ตนเองต้องการ จึงกลายเป็นเข้าคู่กันได้

ว่าตามตรง ถ้าไม่ใช่เหตุการณ์ระหว่างศิษย์กับครู อาจจะโดนโจมตีน้อยกว่านี้ก็ได้ ครูสาว ก็เป็นมนุษย์เพศหญิงธรรมดาเท่านั้นเอง ย่อมมีปมทางเพศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหญิงไทย หรือหญิงต่างชาติ

บางทีเพศหญิงก็ต้องการแสดงอำนาจทางเพศบ้าง แต่พวกหล่อนเองก็ขาดหนทางปลดปล่อย จึงเลือกจะใช้อำนาจกับคนที่สถานะต่ำกว่า และไปลงที่เด็กหนุ่ม ในขณะที่เด็กหนุ่ม ก็คิดว่า การได้ใช้ประสบการณ์ทางเพศกับผู้หญิงแก่กว่าก็เป็นอำนาจทางเพศของตนเช่นกัน

นี่เป็นกรณีของการสนองตัณหาและอำนาจ โดยที่ต่อมจริยธรรมไม่ทำงาน
ปัญหาคือ เราจะสร้าง “จริยธรรมในใจ” ทั้งกับเด็ก ผู้หญิง และ ผู้ชาย ได้อย่างไร
คำถามระดับโลก และเกี่ยวข้องกับทุกคนจริงๆ

Wednesday, March 18, 2009

single mom




“ชีวิตมิลล์ก็หนักมาก คนจะมองว่าการที่เราคบแฟนคนหนึ่ง เรามีลูก แล้วเราเก็บลูกไว้ แล้วมันผิดมากนัก ทำไมมันถึงผิด ทั้งที่คนอื่นทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น มีลูกก็ไปเอาออก อย่างนั้นมันดีกว่าเหรอพี่ มิลล์ถามหน่อย ไม่รู้ว่าอย่างนั้นมันดีกว่าหรือเปล่า แต่มิลล์เลือกทำสิ่งที่มันถูก แต่ทำไมคนกลับมองอย่างนี้ไม่เข้าใจ”

(http://www.igossipy.com/article.php?id=5835)

เป็นคำให้สัมภาษณ์ของหญิงสาวที่เป็นข่าวว่า กิ๊กกับ โดม ปกรณ์ แล้วถูกนักข่าวนำเรื่องส่วนตัวออกมาแฉ

“มีลูกก็ไปเอาออก อย่างนั้นมันดีกว่าเหรอพี่ มิลล์ถามหน่อย”

ข้าพเจ้าก็อยากจะถามสังคมไทย และสังคมสื่อมวลชนไทยว่า เออ แล้วมันเป็นเรื่องที่ผิดมากไหม กับการที่หญิงสาวสักคน มีลูกเงียบๆ โดยไม่ได้แถลงข่าว พอนักข่าวรู้ขึ้นมา จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเอามาแฉกันจนชีวิตของเธอต้องสั่นคลอน
นี่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงไทยต้องเผชิญ หากจะเป็น single mom ก็ต้องแถลงข่าวกันไปเลย ถ้าปิดไว้ มันจะถูกล้วงควัก ออกมาในทำนองว่าเป็นเรื่องไม่ดี ประมาณว่า ท้องไม่มีพ่อ

การตั้งท้องนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเลยแม้แต่น้อย ตั้งแต่แรกเริ่ม ต้องเจอกับความเหนื่อยล้า แพ้ท้อง อาเจียน ผะอืดผะอมสารพัด พอท้องเริ่มใหญ่ก็ต้องอึดอัด ท้องอืด ยิ่งขยายใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งอุ้ยอ้าย ไปไหนมาไหนไม่สะดวก นี่ยังไม่นับภาวะเสี่ยงต่างๆ ระหว่างการตั้งท้อง ที่คุณแม่ต้องระมัดระวัง อดทน ควบคุมชีวิตและจิตใจ เลิกของโปรดหลายๆ อย่าง เพราะมีอีกชีวิตในท้อง

ยิ่งหากเผชิญการท้องด้วยตัวคนเดียว ข้าพเจ้าขอนับถือว่า เป็นด่านที่ยาก ต้องใช้ความอดทนและเข้มแข็งมากกว่าหญิงท้องทั่วไปหลายเท่านัก

แต่สังคมไทย มักลืมตัวเสมอ เวลาพูดถึง single mom หลายครั้งหลุดคำอธิบายว่า ท้องไม่มีพ่อออกมา

แม้ว่า ปัจจุบัน สังคมไทยจะยอมรับการเป็น single mom มากขึ้น ดาราหลายคนที่หย่าร้างกับสามี แล้วเลี้ยงลูกเอง ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น ไม่ต้องปิดบังหรือแอบซ่อน แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ สังคมเรามักชอบลืมตัวเสมอ เผลอไม่ได้ อย่างกรณีของน้องมิลล์
สื่อมวลชน เป็นกลไกสำคัญในการสร้าง หรือ ปลุกปั่น กระแสข่าวต่างๆ แต่สื่อมวลชนมักลืมระวัดระวังตัวเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และขาดความรับผิดชอบต่อผู้ตกเป็นข่าว หลายครั้งก็สร้างข่าวขึ้นมาเพื่อจะปั่นข่าวเอง และปิดข่าวเองด้วย เป็นกลวิธีของสายข่าวบันเทิงที่เห็นอยู่เป็นประจำ

แล้วชีวิตของหญิงสาว หรือเด็ก ที่ตกเป็นข่าวล่ะ ความเป็นส่วนตัว ที่ถูกละเมิดล่ะ เป็นต่างประเทศ เขาฟ้องร้องกันเป็นล้านๆ
แต่ของไทย ใครจะอยากไปมีเรื่องกับ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร หรือนักข่าวล่ะ จนแทบจะต้องมีการอ้อนวอน ขอความเห็นใจจาก “พี่ๆ สื่อมวลชน” ยิ่งถ้าเขียนข่าวแบบละเลงสีตีไข่ปู้ยี่ปู้ยำ ผู้ตกเป็นข่าวที่ยังไม่ดัง มักจะต้องร่ำไห้ขอความเห็นใจ แทนที่จะฟ้องร้องให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่างต่างประเทศ

ข้าพเจ้าจึงอยากจะเรียกร้องให้สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อมวลชน คิดให้มากๆ เวลาต้องนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับ single mom ผลกระทบกะะจายกว้างมากกว่าแค่ที่เห็น

ที่สำคัญ มันคือการทำร้ายลูกผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงที่เป็นแม่อย่างโดดเดี่ยว

Monday, March 2, 2009

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้




ใครช่างเปรียบเทียบผู้หญิงดังดอกไม้

เป็นคำเปรียบระดับอมตะนิรันดร์กาล ที่สืบสาวไปก็จะพบความเปรียบเช่นนี้ในวรรณคดีต่างๆ มากมาย หรือในวรรณกรรมต่างประเทศก็ไม่ต่างกัน เป็นคำเปรียบสากลที่ชัดเจนว่า ดอกไม้ คือ เพศหญิง!!

และดอกไม้ นี้ ก็ถูกใช้เสมอ เมื่อต้องการ “ยกย่อง” เพศหญิง อย่างที่ข้าพเจ้ามองว่ามันมีความ “ไม่จริงใจ” อะไรบางอย่างอยู่ในคำเรียกนั้น

ดอกไม้ ในความหมายทั่วไปก็หมายถึงดอกของพืช ซึ่งในความเข้าใจทั่วไปก็สื่อถึงความสวยงาม น่าชื่นชม แต่หากมองถึงนัยยะที่ลึกลงไป จะเห็นว่า หน้าที่ของดอกไม้มีนัยยะถึงการสืบพันธุ์ ดังนั้น เมื่อหญิงสาวคนใดที่ล่อแมลงได้มากเกินกว่าสังคมจะรับได้ สังคมจึงเอานัยยะเชิงสืบพันธุ์ของดอกไม้มา “ด่า” กันเสียเลย ว่า “ดอก” ด้วยคำด่าประเภท “อีดอก” “ดอกทอง”

ข้าพเจ้า จึงมองว่า การยกย่องเอาคำว่า ดอกไม้ มาใช้ในการกล่าวถึงเพศหญิง ในกิจการอาชีพต่างๆ จึงเป็นคำยกย่องที่ “ไม่จริงใจ” มีความ FAKE อยู่เต็มเปี่ยม ในคำว่า “ดอกไม้”

โดยเฉพาะในทางการเมือง เมื่อผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง มักจะได้รับการยกย่องในทำนอง ดอกไม้

ย้อนกลับไปสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคสมัยที่พยายามสร้างชาตินิยม นโยบาย “ดอกไม้ของชาติ” เป็นนโยบายหนึ่งที่ขายได้ และฝังรากในสังคมไทยมากพอสมควร มันคือการพยายามสร้างกรอบเกณฑ์ให้เพศหญิง มากกว่าจะให้โอกาสเพศหญิงมีส่วนร่วมในการบริการประเทศ กล่าวชัดๆ คือ ไม่ได้ต้องการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง เพียงต้องการกำหนดกรอบและบทบาทให้ชัดเจน ว่า เป็น “ผู้ตาม” ที่ดี อยู่หลังเท้าของท่านผู้นำ

มีนโยบายชาตินิยมที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เช่น เรื่อง นาฏศิลป์ รำวงมาตรฐาน ที่มีเพลง ดอกไม้ของชาติ “ขวัญใจดอกไม้ของชาติ งามวิลาศนวยนาดร่ายรำ”

นี่ล่ะ หน้าที่ของเพศหญิง ในสมัยชาตินิยม การที่ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงเป็นเรื่องหลอกล่อ ให้รางวัลแก่ผู้หญิงที่เข้ากรอบเข้าเกณฑ์ เหมือนให้ขนมเด็กเป็นรางวัลเท่านั้นเอง

มาสู่ยุค นักศึกษาช่วง ก่อนและหลัง พ.ศ. 2516 การเมืองในที่อิงแนวคิดสังคมนิยม ที่ต่อต้านการกดขี่ระหว่างเพศ ทำให้ความเปรียบประเภทนี้ถูกโจมตีและทุบทำลายไปมากพอสมควร การชื่นชมผู้หญิงว่าเป็นของสวยงาม น่าทะนุถนอมถูกผู้หญิงฝ่ายซ้ายต่อต้าน และทำลายลง ผู้หญิงกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวกิจกรรมเพื่อผู้หญิงมากขึ้น โดยยึดทฤษฏีสังคมนิยมเป็นแม่บท ข้อดีอย่างยิ่งยวดคือ เกิดความก้าวหน้าในกลุ่มผุ้หญิง รู้เท่าทันค่านิยมที่กีดกันทางเพศมากขึ้น ทว่า แสนเสียดาย ที่ความเคลื่อนไหวที่อิงทฤษฎีทางการเมือง ต้องจบลง หลังความเคลื่อนไหวเพื่อสังคมถูกยัดเยียดข้อหา “ผีคอมมิวนิสต์” เรียบร้อย 6 ตุลาคม 2519

กลุ่มผู้หญิงที่เคลื่อนไหวโดยอิงวิธีคิดแบบสังคมนิยม จำต้องเปลี่ยนยุทธวิธีไปสู่การเน้น “การช่วยเหลือ” เพศหญิงที่ตกทุกข์ได้ยากแทน นั่นแปลว่า การทำงานกลับไปสู่วิธีคิดแบบเดิมๆ เน้นการช่วยเหลือ และอยู่ในกรอบเกณฑ์ที่เพศชายยอมรับได้

จนกระทั่ง พฤษภาคม 2535 คำว่า “ดอกไม้การเมือง” ถูกนำมาใช้ในภาพข่าว กลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิง เป็นภาพที่สื่อให้เห็นว่า ผู้หญิงก็ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่อย่างไรหรือ?? เป็นแค่ดอกไม้ ที่มายืนประดับฉาก ให้เกิดความสวยงาม และเวลาที่เขาไล่ยิงกัน ดอกไม้ไม่ทราบว่ากระจุยไปทางไหน ดูเหมือนจะมีประโยชน์เพียงน้อยนิด เสียเหลือเกิน

และเมื่อการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ก็เกิด “ดอกไม้สภา” ขึ้น อันหมายถึง ส.ส. ผู้หญิง ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภา แล้วมันอย่างไรกันหรือ?? เมื่อเธอเป็นแค่ดอกไม้

เพราะเมื่อถึงเวลาต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการเคลื่อนไหว ก็เห็น งัด “กระบอกปืน” ออกมาทุกที

นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตเสมอมาว่า เพศหญิง เป็นเพียงแต่ดอกไม้ ไม่ว่าจะทำอะไร พวกหล่อนก็ได้รับคำชื่นชม (?) ว่าเป็นดอกไม้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการความเห็น ดอกไม้นี่ส่วนใหญ่จะพูดไม่ค่อยได้ยิน เสียงของดอกไม้จะนุ่มนวลชวนฝันเกินกว่าจะนำพาและใส่ใจ

เมื่อเวทีการเมือง กำลังลั่นกลองศึก

เชื่อได้ว่า ยุทธวิธี “ดอกไม้” กำลังจะถูกนำมาใช้อีกครั้ง และครั้งนี้ ดอกไม้แต่ละดอก คงต้องเปี่ยมคุณภาพ ทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ (แล้วทำไมไม่ไปประกวดนางงามกันเสียเลยวะ)

ซึ่งกลยุทธ์นี้ ข้าพเจ้าถือว่า เป็นความ ไม่จริงใจทางการเมืองกันเลยที่เดียว เพราะข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า พรรคการเมือง จะเห็นคุณค่าของนักการเมืองหญิงอย่างแท้จริง

ก็แค่ดอกไม้การเมือง


1/แรก ตค 2550

Thursday, February 26, 2009

เมื่อชู้เริ่มที่โลกไซเบอร์


โวต เล่มที่ผ่านมา มีสกู๊ปที่เกี่ยวกับผลกระทบของโลกไซเบอร์ต่อบุคคลสาธารณะของเกาหลี นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ข้าพเจ้าไมได้อยากจะมาร่วมวงการประณามโลกไซเบอร์ เพราะข้าพเจ้ามองเห็นข้อดีมากมายของการใช้อินเทอร์เน็ต การมีบล็อก การหาเพื่อนใหม่ที่มีรสนิยมคล้ายกัน ใช่ล่ะ ข้าพเจ้ามองเห็นข้อดีเช่นนั้น

แต่ทุกอย่างย่อมมีด้านมืด

โลกไซเบอร์ กลายเป็นช่องทางของการติดต่อกันระหว่างคนต่างเพศ อันนำไปสู่ปัญหาการล่อลวงผ่านอินเทอร์เน็ต (นั่นคือการไม่สมยอม) และปัญหา การมีชู้ผ่านโลกไซเบอร์ (สมยอมแน่ๆ)

แน่นอน การล่อลวงผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งบล็อก อย่าง HI5 มีข่าวให้เห็นกันอย่างบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เด็กสาวๆ วัยคึกคะนอง เห่อกลิ่นสาวตัวเอง มักจะตกเป็นเหยื่อโดยง่าย หลงคารมชายโฉดชั่วที่ใช้อินเทอร์เน็ตมาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงเด็กสาวๆ

แต่อีกเรื่องที่ร้ายกว่าไม่แพ้กัน คือ การที่หญิงชายที่มีครอบครัวแล้วเริ่มต้นสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นผ่านอินเทอร์เน็ต ลุกลามไปจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องราวชู้ เพราะการขาดความยั้งคิด

เท่ ไปอีกแบบ ที่มีกิ๊กอยู่ในโลกไซเบอร์ วันดีคืนดี คนในโลกไซเบอร์ก็ออกมาเจอกัน สานเรื่องราวให้มากมาย แบบลืมโลกของความเป็นจริง

นี่ล่ะอันตราย
สังคมไม่ได้เสื่อม สังคมเป็นเช่นนี้มานับแต่สมัยไหน

แต่ช่องทางมันมีมากขึ้น โอกาสมันเยอะขึ้น และมีความรวดเร็ว กระทำการได้ง่าย สะดวก ทันใจมากขึ้น แชท แลกเบอร์ คุย ส่งภาพ มากมาย จากระยะเวลาการไล่จีบชู้ที่อาจจะใช้เวลานานสัก 3 เดือน ก็มาสู่ระยะเวลาแค่ 3 วัน ตัดระยะเวลาและระยะห่าง อันเป็นกระบวนการขัดกล่อมจิตใจไปเสียสิ้น

รู้ตัวอีกทีก็ปรู๊ดปร๊าดราวติดจรวจ
ต้องยอมรับว่า นี่เป็นช่องทางที่ผู้หญิงเหงา ใช้เป็นสะพานของการไขว่คว้าหาคนเข้าใจ และแน่นอน เมื่อเกิดความเข้าใจ ในที่สุดมันก็เป็นความสัมพันธ์แบบแยกไม่ออก ระหว่างความจริงและความลวง ชู้ในโลกไซเบอร์ก็เลยกลายมาเป็นจริงเสียชิบ

ข้าพเจ้าของยกกรณีศึกษาของชายหนุ่มคนหนึ่ง มีภรรยาแล้ว ฝ่ายภรรยาเกิดนิยมเล่น เอ็มเอสเอ็น และได้รู้จักหนุ่มต่างเพศทางเอ็มเอสเอ็น จากนั้น เธอชักพาหนุ่มเข้ามาทำงานที่บริษัทของตนกับสามี โดยสามีไม่ทราบว่านั่นเป็นหนุ่มกิ๊กของฝ่ายหญิง สุดท้าย ครอบครัวแตกแยก ต้องหย่าร้าง ลูก 2 คนกลายเป็นเด็กบ้านแตก กรณีนี้ ผู้หญิง เป็นฝ่ายไขว่คว้าหาความตื่นเต้นจากโลกไซเบอร์ จนขาดความยั้งคิด ครอบครัวแตกแยก

หรือกรณีแบบฮิตๆ ส่วนใหญ่จะเป็น หญิงสาวเข้ามาติดชายหนุ่ม โดยไม่สนใจว่าข้าจะมีครอบครัวหรือไม่ จนเกิดปัญหาครอบครัวตามมา

ว่ากันตามตรงก็คือ ช่องทางไซเบอร์นี้ ทำให้คนทั่วไปขาดความยั้งคิด เพราะ ระยะห่างมันหายไป สามารถสื่อสารได้รวดเร็วทันใจ และการไม่เห็นหน้ากัน ก็ทำให้กล้าที่จะแสดงความคิดมากกว่าการเห็นหน้า ซึ่ง ความคิดเหล่านั้น อาจเป็นความคิดที่เกิดจากการขาดความยั้งคิดก็เป็นได้

ข้าพเจ้าไม่ได้เกลียดโลกอินเทอร์เน็ต ข้าพเจ้ามองเห็นข้อดีมากมายอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น
ข้าพเจ้าเพียงตั้งข้อสังเกต ว่า มนุษย์ มักใช้ช่องทางอันมีประโยชน์ เพื่อสร้างเรื่องที่มีโทษเสมอๆ และเอาเข้าจริง เรื่องแบบนี้ไร้การควบคุม ไม่มีทางควบคุมอะไรได้เลย

และข้าพเจ้ามองว่า สุดท้าย เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เพศหญิงนั่นเอง ที่จะได้รับผลของการกระทำมากกว่าเพศชาย หากมีชู้เอง ก็จะโดนครหาจากสังคม หากเป็นชู้กับคนอื่น ก็ทั้งโดนครหา และทั้งเกิดการทำร้าย (ทางใจและกาย) กับเพศหญิงด้วยกันเอง

อันที่จริงแล้ว ข้าพเจ้ามองว่า เพศชาย ลอยตัว เมื่อเกิดปัญหานี้ เพราะนี่เป็นสังคมไทย

ผู้หญิงมันแส่มาเอง ช่วยไม่ได้

เพศหญิงนั่นล่ะ ที่ต้องเป็นผู้ระมัดระวังตนเองให้มากที่สุด อย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปกับช่องทางเหล่านั้น หากว่าคุณจะได้แฟน หรือสามี เป็นตัวตนจากโลกไซเบอร์ ย่อมเป็นได้ แต่มิใช่การไปวุ่นวายกับสามีคนอื่น หรือไม่ใช่การไขว่คว้าหาสามีคนที่สอง
เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ ผู้หญิง มีแต่เสียกับเสีย

Sunday, January 4, 2009

The Sacramen H.I.M.




I hear you breathe so far from here
I feel your touch so close and real
And I know
My church is not of silver and gold,
It's glory lies beyond judgement of souls
The commandments are of consolation and warmth

You know our sacred dream won't fail
The sanctuary tender and so frail
The sacrament of love
The sacrament of warmth is true
The sacrament is you

I hear you weep so far from here
I taste your tears like you're next to me
And I know
My weak prayers are not enough to heal
Oh the ancient wounds so deep and so dear
The revelation is of hatred and fear

You know our sacred dream won't fail
The sanctuary tender and so frail
The sacrament of love
The sacrament of warmth is true
The sacrament is you

The sacrament is you
The sacrament is you
The sacrament is you
The sacrament is you

You know our sacred dream won't fail
The sanctuary tender and so frail
The sacrament of love
The sacrament of warmth is true
The sacrament is you

You know our sacred dream won't fail
The sanctuary tender and so frail
The sacrament of love
The sacrament of warmth is true
The sacrament is you