Friday, December 1, 2006


นักเขียนไทย กับนักเขียนเกาหลี กับบทบาทของวรรณกรรมในสังคม
ณ มหาวิทยาลัยบูรพา

มหาวิทยาลัยบูรพาจัดงานแลกเปลี่ยนข้อเสนอทางวิชาการของนักเขียนไทยกับนักเขียนเกาหลี ในเรื่องบทบาทของวรรณกรรมในสังคม ภายใต้ชื่อโครงการวัฒนธรรมแลกเปลี่ยน ไทย-เกาหลี
งานนี้ถือเป็นงานวิชาการระดับประเทศที่น่าสนใจมาก มีศิลปินเกาหลีกลุ่มเครือข่ายวัฒนธรรมเอเชีย เข้าร่วมงานกว่า 20 คน ฝ่ายเจ้าภาพไทย มีนักเขียน กวี นักข่าว บรรณาธิการ ศิลปิน เข้าร่วมงานไม่แพ้กัน เช่น ปิยะพร ศักดิ์เกษม, ประชาคม ลุนาชัย, พินิจ นิลรัตน์, วาสนา ชูรัตน์, นฤมิตร สอดสุข และ ชมัยภร แสงกระจ่าง
งานสัมมนานี้นำเสนอบทความวิชาการบนเวทีผ่านล่ามสาวน่ารัก ปาร์ค คยุง อัน (Park Kyung Eun) สาวเกาหลีที่มาเรียนปริญญาโท ภาษาไทยที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ปัจจุบันมีผลงานแปลวรรณกรรมเกาหลีเป็นภาษาไทยแล้ว 2 เล่ม
นักวิชาการเกาหลี เช ดู ซ็อก เริ่มต้นเสนอบทวิชาการเรื่อง การพรรณนาความรู้สึกแบบตะวันออกในกวีนิพนธ์เกาหลี โดยยกตัวอย่างกวีนิพนธ์ของ คิม ซู ยอง เรื่อง หิมะ ที่มีการบรรยายที่น่าสนใจ

หิมะ ///
โดย คิม ซู ยอง
หิมะยังมีชีวิตอยู่
หิมะที่ร่วงลงมายังมีชีวิตอยู่
หิมะที่ร่วงลงมายังสวนหน้าบ้านมีชีวิตอยู่
ไอกันเถอะ
กวีรุ่นใหม่ ไอกันเถอะ
ไอให้หิมะดูอย่างสะใจ และสะใจ
หิมะยังมีชีวิตอยู่
เพื่อวิญญาณและร่างกายที่สมควรตายไปแล้ว
หิมะยังมีชีวิตจนเช้าตรู่
ไอกันเถอะ
กวีรุ่นใหม่ ไอกันเถอะ
ไอโดยมองหิมะ
ถุยเสมหะที่ติดอยู่ในอกให้ออกมาอย่างสะใจเลย


เช ดู ซ็อก อธิบายว่า เรื่องหิมะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความตาย เพราะในความเป็นจริง หิมะที่ร่วงลงมาจากท้องฟ้า จะตายไปในทันที่ที่ถูกแสงแดด แต่เมื่อคิดว่าความตายมีชีวิต ชีวิตก็มีชีวิต
ส่วนบทกวีอีกบทที่ยกมา เป็นของ ซิง ตงหยอบ เรื่อง เปลือกจงหายไป
ในบทกวีบทนี้ กล่าวถึงเปลือก ภูเขาอัลลาและภูเขาเพ็กดู เดือนเมษายน เช ดู ซ็อก อธิบายว่า บทกวีนี้เป็นบทกวีการเมือง ที่กล่าวถึงการสืบสานอุดมการณ์ของคนเกาหลี โดยเริ่มจากเหตุการณ์ณ์วันธงหัก ของเกาหลี ซึ่งเป็นวันที่ชาวเกาหลีลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของญี่ปุ่น การกล่าวถึงสังคมเกษตรกรี่ปฏิวัติรางวงศ์กษัตรย์เกาหลี การต่อต้านตะวันตก ส่วนการปฏิรูปเดือนเมษายน นั้นเป็นเหตุการณ์ณ์นักศึกษาต่อต้านอำนาจทหาร คล้ายกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ของไทย บทกวีบทนี้เรียกร้องให้ชาวเกาหลีคงไว้ซึ่งความกระตือรือร้นอันบริสุทธิ์ในอุดมการณ์ณ์แห่งประชาชน กวีเชื่อมโยงเหตุการณ์ณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติเกาหลีเข้าในบทกวีบทเดียว และแสดงความมุ่งหวังถึงการสืบทอดเจนารมย์อันล้ำค่า เพื่อสร้างสังคมที่ดี
เช ดู ซ็อก กล่าวว่า กวีของเกาหลีนั้น “หายใจไปพร้อมกับผู้อ่าน” นั่นคือ ทำงานเพื่อประชาชน นอกจากนี้ เช ดู ซ็อก ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ความนิยมกวีนิพนธืในเกาหลีมีมากพอสมควร มีกลุ่มผู้อ่านที่เหนียวแน่น และแพร่หลาย

จากอาจารย์ คิม ดู ซ็อก ก็มาเป็นการเสนอหัวข้อสัมมนา เรื่อง สภาพความเป็นจริงของศิลปะเกาหลี และความคับข้องใจของนักแสดง เสนอโดย คิม ชี ซุก นักแสดงชื่อดังของเกาหลี ซึ่งอยู่ในวงการการแสดงมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่อาชีพนักแสดงยังเป็นอาชีพที่ถูกดูถูก และผู้หญิงที่เป็นนักแสดงก็จะไม่มีทางมีสามี เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม
คิม ชี ซุก เล่าให้ฟังถึง “อุตสากรรมวัฒนธรรม” ของเกาหลี นโยบายสำคัญของรัฐบาลเกาหลีคือการส่งออกวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์ และ เกมคอมพิวเตอร์ โดย คิม ชี ซุก ยกคณะบัลเลย์บอลซอย ของรัสเซียมาเปรียบเทียบว่า การส่งออกทางวัมนธรรมเช่นนั้น ก็มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้อุตสาหกรรมอื่นๆ และสร้างรายได้ได้ไม่ต่างกัน ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ท่ามกลางความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม คิม ชี ซุก เสนอว่า ปัญหาสำคัญของประชาชนในประเทศคือการเข้าถึงความเป็นศิลปะที่แท้จริง และเรียกร้องว่าต้องการให้ประชาชนหันมาสนใจนักเขียน นักแสดง และศิลปิน ในฐานะผู้สร้างงานศิลปะ เพราะศิลปะนั้นมีความสำคัญมีพลงทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่เพราะมีมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรม ประเด็นสำคัญคือ ต้องรู้คุณค่าของศิลปะเสียก่อนสิ่งอื่นใด
ภาคบ่าย ปาร์ค ซู เอียน ขยายภาพของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเกาหลีให้ชัดเจนขึ้น โดยแบ่งตามลักษณะภาพของวรรณกรรม โดยนับจากหลังได้รับเอกราชจากญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น อำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามาในปลายคตวรรษที่ 19 เอเชียต้องเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่ในความนิยมยุโรปมิได้หมายความว่านักเขียนยุคใหม่ไม่มีพลังสร้างวรรณกรรมเกาหลีแท้ๆ
ช่วง ค.ศ. 1900-1910 วรรณกรรมเกาหลีจะเน้นนวนิยายประวัติศาสตร์ รักชาติ
ช่วง 1910 วรรณกรรมอยู่ตัว เป็นรากฐานของเกาหลี เป็นสมัยที่คนเกาหลีไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นกันมาก และได้รับรูปแบบและเนื้อหามาจากญี่ปุ่น
ช่วง 1920 ก่อนปี ค.ศ. 1920 มีเหตุการณ์ณ์รณรงค์เรียกร้องเอกราชจากญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1919 ประชาชนต่อสู้กับอำนาจของญี่ปุ่น ในวันที่ 1 มีนาคม มีคนตายมากมาย และเหตุการณ์นี้ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการปกครองเกาหลี
ช่วง 1920 วรรณกรรมแสดงความรักชาติมากขึ้น กล่าวถึงประวัติศาสตร์ และบุคคลในทุนนิยม แนวทางการเขียนแบบตะวันตกแพร่เข้ามามากขึ้น ทำให้เกิดพันธมิตรทางวรรณกรรมของซูซอน กลุ่ม Politalia นักเขียนเรียกร้องเอกราชผ่านวรรณกรรม และก็มีกลุ่มวรรณกรรมบริสุทธิ์ที่ปฏิเสธจะเข้าร่วมกับพันธมิตร เป็นยุคที่วรรณกรรมเริ่มปฏิเสธตะวันตก
ช่วง 1930 ญี่ปุ่นกลับปกครองเกาหลีอย่างเข้มงวดขึ้น เคร่งครัดกว่าเดิม ทั้งเข้าไปปกครองแมนจูเลีย ทำให้ Politalia สลายตัว ตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นฟาสซิสต์สมบูรณ์แบบ และบังคับให้นักเขียนเกาหลีเขียนสรรเสริญอำนาจของญี่ปุ่น ซึ่งนักเขียนหลายปฏิเสธ และต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ
ช่วง 1950-1960 คนที่ปฏิเสธรัฐบาลต้องหลบซ่อนใต้ดิน เป็นช่วงวรรณกรรมไม่ค่อยพัฒนา
ปี ค.ศ. 1960 เกิดเหตุการณ์ 19 เมษายน นักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย ทว่าเพียง 1 ปี ใน ค.ศ. 1961 ประเทศก็กลับไปอยู่ใต้การปกครองของทหารต่อไป (เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ของไทย) รัฐบาลห้ามนักเขียนเขียนเรื่องที่ต่อต้านรัฐบาล เป็นช่วงที่นักเขียนไม่มีที่ยืนในสังคม
หลัง ค.ศ. 1979 หลังเหตุการณ์ณ์ประธานาธิบดีถูกสังหาร เกิดงานที่ต่อต้านรัฐบาลมาก วรรณกรรมปฏิเสธการเมืองทุนนิยม และให้ความสำคัญกับเรื่องชนชั้นให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมกร เกิดนักเขียนกรรมกร หรือนักเขียนเพื่อสังคม หลังจากรัสเซียล่มสลาย เกาหลีก็เริ่มสูญเสียความคิดที่เคยมี
นักเขียนรุ่นใหม่ ใช้คำสละสลวย แต่ทว่าความหมายทางการเมืองและประวัติศาสตร์หายไป

สำหรับข้อเสนอของวรรณกรรมไทย นำเสนอโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียน นักวิจารณ์ ของไทย ที่ทำงานด้านวรรณกรรมมายาวนาน อาจารย์ชมัยภร กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมไทย ดังนี้
1. สังคมไทยมีความกดดันน้อยกว่าเกาหลี สังคมไทยมีลักษณะไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่ชอบเห็นความขัดแย้ง
2. สืบเนื่องจากพื้นฐานทางสังคมของไทย ที่คนไทยนิยมการร้องรำทำเพลง ชอบมหรสพ ชอบการแสดง วรรณกรรมไทยจึงมักเน้นเรื่องบันเทิง ชอบเรื่องแบบสมหวังตอนจบ ชอบความสุข
3. คนไทย ผู้เสพงานวรรณกรรมไทย แยกความจริงออกจากความลวง กล่าวคือแยกวรรณกรรมของจากชีวิต ดังนั้น วรรณกรรมจึงไม่ส่งผลต่อการกระทำ
4. คนไทยไม่ปฏิเสธวัฒนธรรม เป็นลักษณะรวมวัฒนธรรม จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย
สถานภาพของวรรณกรรมไทย มีดังนี้
1. คงสถานภาพความเป็นงานศิลปะ จรรโลงจิตใจของคนในสังคม
2. เป็นเครื่องมือทางการศึกษา
3. เป็นเครื่องมือให้ความบันเทิงใจ
4. เป็นเครื่องมือบันทึกสภาพสังคม
5. เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต
6. เป็นเครื่องมือสนองความทันสมัย
7. เป็นเครื่องมือทางการเมือง รับใช้การเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของทุกฝ่าย อยู่ที่ฝ่ายใดจะนำไปใช้อย่างไร

หลังจากนั้นเป็นข้อวิจารณ์ของอาจารย์นฤมิตร สอดสุข และนักวิจารณืเกาหลี
อย่างไรก็ตาม นักเขียนเกาหลีก็กล่าวถึงงเรื่องรัก ที่เข้ามาแพร่หลายในสังคมการอ่านของไทยว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่าดีใจนัก เพราะเหล่านั้นไม่ใช่วรรณกรรมที่มีพลัง นักเขียนเกาหลีคิดว่างานที่ดีต้องมีพลังทางอุดมการณ์ณืมากกว่า
การสัมมนาจบลง ด้วยความชื่นมื่น และเข้าใจในวัฒนธรรมวรรณกรรมที่มีทั้งความต่างและความเหมือน
ถึงอย่างไร เราก็อยากให้คนอ่านหนังสือมากๆ และมีวิจารณญาณส่วนตัวในการพิจารณาคุ๋นค่าของวรรณกรรม ไม่ใช่อ่านตามที่เขาโฆษณา หรืออ่านเรื่องสอดรู้ของดาราบางคน เรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่ทำเป็นเรื่องให้คนอยากอ่าน

No comments: