Thursday, December 14, 2006

มดลูกของเราหรือมดลูกของใคร กับสิ่งที่เรียกว่า สิทธิแห่งการสืบพันธุ์ (Reproductive Rights)

ตอนที่แล้วฉันเล่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวแบบเพศหญิง เรื่องมดลูกของฉัน และทิ้งท้ายเรื่องการถกเถียงเรื่องมดลูกไว้ ในคราวนี้ฉันขอยกประเด็นแบบสตรีนิยม มาถกและเถียงบ้าง



ข้อเสียอย่างหนึ่งของนักวิชาการ (ไม่เฉพาะเรื่องสตรีนิยม) คือ ชอบพูดเรื่องง่ายให้ฟังยาก และพูดเรื่องยากให้ฟังโคตรยาก!! แต่อย่างว่า การรับเอาทฤษฎีจากต่างประเทศมาอธิบายเป็นภาษาไทยย่อมจะยาก ด้วยศัพท์แสงที่ไม่รู้จะเรียกเป็นไทยอย่างไรให้ครอบคลุมความหมายตามต้นทฤษฎี

ในกรณีของเรื่องสตรีนิยม เอาแค่คำว่า gender, sex, sexuality, radical feminism ก็ถอดเป็นไทยกันวุ่นวาย และโดยเฉพาะคำที่นำมาเป็นหัวเรื่องคราวนี้ นั่นคือ คำว่า Reproductive Rights ซึ่งนักสตรีนิยมไทยแปลเป็นไทยว่า สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์

จริงๆ ฉันว่าคำ Reproductive ถ้าแปลว่า “สืบพันธุ์” น่าจะให้ความหมายตรงมากกว่าคำว่าเจริญพันธุ์ แม้จะฟังทื่อมะลื่อและชวนตะขิดตะขวงยิ่งนัก แต่ในความเห็นแบบทื่อๆ ของฉันเห็นว่าตรงดี ดังนั้น Reproductive Rights ก็น่าจะแปลว่า “สิทธิแห่งการสืบพันธุ์” ชัดเจนแจ่มแจ้งเข้าเรื่องเข้าราวดี และแน่นอน...เรื่องแห่งการสืบพันธุ์นี้ต้องมี “มดลูก” เป็นตัวละครเอก

ภาพรวมของสิทธิแห่งการสืบพันธุ์ แบ่งเป็นสองประเด็นใหญ่ คือ สิทธิในการควบคุมร่างกายของเพศหญิง และสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์หรือสืบพันธุ์


ฉันจะจับเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับมดลูกโดยแท้ คือเรื่องสิทธิในการสืบพันธุ์ ซึ่งตามทฤษฎีแบ่งไว้เป็น 1. การท้อง 2. การไม่ท้อง และ 3. ความตั้งใจที่จะไม่ท้อง

หากยึดหลักสิทธิในร่างกาย มดลูกของใครย่อมเป็นมดลูกของคนนั้น (แน่ล่ะ) และคนนั้นจะทำอย่างไรกับมดลูกของตัวก็ได้ เป็น “สิทธิส่วนบุคคล” ทว่าตามหลักจริยธรรม สังคม รวมถึงศาสนา แล้ว มดลูกกลายเป็นเรื่องสาธารณะ

ในสังคมไทย การพูดถึงเรื่องสืบพันธุ์อย่างโจ่งแจ้งเป็นเรื่องหยาบคายไม่สมควร (ไม่รู้เป็นตั้งแต่เมื่อไหร่) ทว่าการกล่าวถึงอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า และลดปัญหาผู้หญิงไปได้มากกว่า ฝ่ายหญิงจะได้ไม่เก็บกด และกลายเป็นแพะรับบาปตลอดกาล


ข้อประเด็นแรกคือสิทธิในใช้มดลูกของตน มดลูกถูกตีค่าต่ำกว่าอัณฑะ การใช้อัณฑะอย่างฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องการสำแดงอำนาจของเพศชาย ทว่าเมื่อมดลูกถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือยบ้าง กลับกลายเป็นเรื่องของความใจแตกแหลกเหลวเลวชั่ว ทั้งที่ประเด็นควรจะอยู่ที่การสามารถเลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้มดลูกของตนตามความพอใจ และต้องได้รับความปลอดภัย ภายใต้การดูแลจากสังคม อันหมายถึงการให้ความรู้ในการดูและรักษามดลูกที่ถูกต้องจากสังคมและรัฐ แต่สังคมไทยไม่ใช่แบบนั้น เมื่อมีองค์กรบางองค์กรพิมพ์หนังสือประเภทให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ มักถูกต่อต้านในทำนองว่าชักชวนให้เด็กใจแตก และส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์


การให้ความรู้เรื่องการใช้มดลูก แท้จริงแล้วเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมด้วยซ้ำ เมื่อเด็กสาวรู้จักร่ายกายของตนดีพอ จึงจะสามารถดูแลและรักษาสิทธิของตนได้ และไม่นำไปสู่ปัญหาตามมา --ปัญหาที่เกิดจากมดลูกนั่นล่ะ


เมื่อเด็กสาวท้อง มดลูกของเธอจะกลายเป็นมดลูกของสังคมทันที การตัดสินใจเอาไว้ หรือเอาออก เป็นเรื่องของญาติ พ่อแม่พี่น้อง รวมถึงแฟน ที่สำคัญยังมีเรื่องของเศรษฐกิจสังคมมาเป็นเหตุผลประกอบอีกด้วย และโดยที่รัฐแทบจะเพิกเฉยกับประเด็นท้องขณะไม่พร้อม เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำแท้งด้วยเหตุผล-ไม่พร้อม ทว่ารัฐ-กฎหมายก็ไม่มีบทบังคับอะไรที่เป็นการปกป้องเพศหญิงที่ต้องเป็นแม่โดยไม่พร้อม ไม่มีสวัสดิการสังคม ไม่มีแม้กระทั่งการให้ความรู้ใดๆ แก่ผู้หญิงที่ท้องโดยไม่พร้อม ทั้งที่ในความเป็นจริง ปัญหาของผู้หญิงมีมากมาย เด็กสาวอาจมีคำถามง่ายๆ ว่าจะเรียกร้องให้พ่อเด็กในท้องมารับผิดชอบอะไรได้บ้าง หรืออาจจะสงสัยว่าจะไปเอามารหัวขนนี้ออกได้ที่ไหน!!


อย่างที่เคยพูดเรื่องการทำแท้งไปแล้วในตอนก่อนๆ ประเด็นนี้เป็นประเด็น “หาเรื่อง” เป็นข้อถกเถียงระหว่างสิทธิของเจ้าของมดลูก กับสิทธิของชีวิตในมดลูกที่กำลังจะก่อกำเนิด ประเด็นนี้ถูกโต้ตีโดยนักสตรีนิยม ซูซาน แพชเชสกี้ ว่าความสัมพันธ์ของหญิงท้องกับตัวอ่อนในท้อง แท้จริงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับ “ส่วนหนึ่งของร่างกาย” ของตนเอง ไม่ใช่ความสัมพันธ์ของคนสองคน การนำกฎหมายอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคนหนึ่งฆ่าอีกคนหนึ่งมาใช้กับผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่อง “ไร้สาระยิ่ง”


ถ้ายึดหลักการนี้ ก็เรียกได้ว่า การทำแท้งเป็นสิทธิของเจ้าของมดลูกอย่างแท้จริง ทว่า...อย่าลืมว่า มดลูกไม่เคยมีสิทธิเหนืออัณฑะ อันกำหนดกรอบเกณฑ์ของมาตรฐานสังคม ทฤษฎีแบบสตรีนิยมที่ของเจ๊แพชเชสกี้ จึงยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมทั่วไป

เพื่อนหญิงของฉันคนหนึ่ง พันธุ์ทิพย์ ธรรมโชโต--(ขอเอ่ยนาม เพราะเป็นการอ้างถึงแนวคิดของเธอ ไม่ต่างจากการอ้างถึงแพชเชสกี้) พูดเรื่องมดลูกไว้อย่างน่าสนใจ เธอบอกว่าพระเจ้าลำเอียงตั้งแต่แรกสร้างมนุษย์ (ประเด็นพระเจ้านี้สงสัยว่าจะต้องถกเถียงกันยาว เอาเป็นว่า หมายรวมถึงพระเจ้าทุกองค์ และรวมถึงธรรมชาติสร้างโลกตามทฤษฎีวิวัฒนาการด้วย) แน่จริง ทำไมไม่สร้างให้มีมดลูกกันทั้งสองเพศ อยู่ที่ว่าใครจะแจ๊กพ็อตเป็นฝ่ายท้อง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การข่มขืนคงไม่เกิด เพราะเผื่อไอ้ฝ่ายผู้ข่มขืนมันท้องขึ้นมา มันจะเดือดร้อน ดูๆ ว่า คุณพันธุ์ทิพย์ เธอก็เข้าประเภทเฟมินิสต์กับเขาเหมือนกัน วิธีคิดของเธอก็คล้ายๆ กับที่นักสตรีนิยมมักกล่าวถึงตำนานพระเจ้า ที่กล่าวว่าผู้หญิงกำเนิดมาจากซี่โครงข้างขวาของผู้ชาย เป็นเรื่องลำเอียงพอๆ กันทีเดียว

ประเด็นของคุณพันธุ์ทิพย์กล่าวโทษไปถึงเรื่องที่มักถูกอ้างว่าเป็นธรรมชาติ นั่นคือ มดลูก การสร้างมดลูกที่จำเพาะเจาะจงเพียงเพศเมียเท่านั้น นำมาซึ่งภาระใหญ่หลวงของความเป็นแม่ ในขณะที่ประเด็นเรื่องเล่าแห่งพระเจ้า(กับซี่โครงข้างขวา) เป็นการตอกย้ำภาพรวมของโลก นั่นคือมุมมองแบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบคลุมเรื่องเล่าทุกเรื่องในโลกใบนี้ โดยใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือ--เป็นเหตุผลว่าทำไมทฤษฎีแบบสตรีนิยมจึงได้รับการตอบรับน้อยเหลือเกิน โดยเฉพาะในประเทศไทย--เพราะเหล่าผู้หญิงเติบโตและถูกหล่อหลอมมากับเรื่องเล่าแบบชายเป็นใหญ่ ฝ่ายหญิงย่อมเป็นรอง และไม่มีทางโต้แย้งได้เลย พื้นที่ของเพศหญิงก็คือทำหน้าที่แบบผู้หญิงๆ ของพวกเธอให้ดีพอ เช่น จงสวย ขาว อวบ อึ๋ม ให้เต็มที่ จงเป็นนักการเมืองสวยเก่งดูดี จงเป็นแม่พระของผู้หญิงตกยาก จงช่วยเหลือสังคม โดยสรุปก็คือ จงเล่นบทบาทตัวประกอบของพวกหล่อนให้ดีที่สุด ในขณะที่ผู้หญิงหัวแข็งจะกลายเป็นพวก “ไม่รู้จักบทบาทและสถานะของตน” ไปในทันที ดังนั้นแล้ว..การเรียกร้องสิทธิให้โสเภณีจึงกลับไม่ได้รับการร่วมมือจากผู้หญิงคุณนางคุณนายหลายกลุ่ม


ในขณะที่บางคนท้องโดยไม่ต้องการ ก็มีผู้หญิงบางคนไม่ต้องการท้อง เธอไม่ต้องการใช้มดลูกของเธอเพื่อสืบพันธุ์ (เพียงแต่อาจใช้เพื่ออย่างอื่นบ้าง--แต่ไม่ต้องการสืบพันธุ์-เข้าใจมั้ย) หล่อนจะกลายเป็นหญิงผิดปกติทันที่ คนอะไรไม่อยากมีลูก เพราะสังคมตั้งกรอบเกณฑ์ความเป็นแม่ไว้ชัดเจน สังคมไม่มีเรื่องเล่าที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเป็นแม่ นอกจากเรื่องประเภท-สาวทึนทึก ขึ้นคาน ขายไม่ออก เท่านั้นยังไม่พอ หากผู้หญิงแต่งงานไม่มีลูกก็อาจกลายเป็นความผิดของชีวิตได้ โทษฐานไร้ประสิทธิภาพในการสืบทายาท

จะเห็นได้ว่าการเป็นฝ่ายครอบครอบมดลูก นำมาซึ่งภาระมากมาย ในขณะที่เรื่องเล่าของผู้ชายก็ยิ่งตอกย้ำความต่ำกว่าด้อยค่าของมดลูก ที่น่าเจ็บใจที่สุดก็คือ ผู้ครอบครองมดลูกด้วยกันเอง ดันไม่อยู่ข้างมดลูกเสียนี่!!

3 comments:

Anonymous said...

โอว เย้

บล็อกเฟมินิสท์ จงเจริญ คิ คิ

Anonymous said...

มีลูกมดบ้างอ๊ะเป่า...แบร่ๆๆ

MoonShadow said...

อ่านแล้วพยักหน้าหงึกหงัก มันโยงไปถึงเรื่องสิทฺธิ์ในการทำแท้งด้วยนะเนี่ย