Friday, February 23, 2007

เรื่องโป๊เปลือย กับลัทธิสตรีนิยม

เรื่องโป๊เปลือย กับลัทธิสตรีนิยม
(ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร คนมีสี ปีที่ 2 ฉ.ที่ 40 กพ. 2550)



คำว่า สตรีนิยม กลายเป็นที่ยอมรับ และรับรู้กันอย่างดีแล้วในสังคมไทย (แม้ว่าจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ตาม) และถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่ง ในการตีความปรากฏการณ์ทางสังคมหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสื่อศิลปะ ทั้งงานศิลปะและงานวรรณกรรม
ผลงานโดดเด่นที่เสียดแทงลูกตาสังคม ของศิลปินหญิงและนักเขียนหญิงกลุ่มที่ถูกตีความว่าได้รับอิทธิพลแนวสตรีนิยม นั้น มักแสดงออกมาในรูป ภาพเปลือย ภาพอวัยวะของผู้หญิง และงานวรรณกรรมก็มักเป็นงานโป๊เปลือย เปิดเผยความคิด และภาพ (ผ่านตัวอักษร) การร่วมเพศอย่างชัดเจน งานกลุ่มนี้มักถูกเรียกว่า งานอีโรติค

แล้วทำไม ศิลปิน และนักเขียน ต้องเลือกการแสดงออกแบบ อีโรติก

ก่อนจะเข้าเรื่อง ต้องขออธิบายก่อนว่า อิทธิพลจากแนวคิดสตรีนิยม มิใช่ทำให้ศิลปินหญิงและนักเขียนหญิงมุ่งเสนองานโป๊เปลือย งานโป๊ๆ บางอย่าง ก็ไม่ได้สำแดงความเป็นสตรีนิยมอะไรเลย และก็มีงานหลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องโป็ แต่ก็แรงกระแทกกะโหลกผู้ชมหรือผู้อ่านงานจนสมองชา (คงต้องว่ากันทีหลัง)

การนำเสนอเรื่องโป๊หวาม มิใช่เพิ่งกำเนิดขึ้นเมื่อสังคมเปิดเผยเพราะโลกไร้พรมแดน ทว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ และเกิดขึ้นพบเห็นเป็นส่วนหนังของวงจรชีวิต ที่สักวันหนึ่ง เมื่อศิลปินมีผู้หญิงมากขึ้น ศิลปินหญิงและนักเขียนหญิง ย่อมนำเสนอเรื่องใกล้ตัวนี้ออกมาเป็นผลงาน

หากจับตาจ้องไปที่งานศิลปะ เราจะมองเห็นผลงานเหล่านี้อย่างชัดเจน และเข้าใจได้ง่ายกว่า เช่น ผลงานของ พินรี สัณฑ์พิพักษ์ ส่วนใหญ่มักเป็นภาพนม และเรือนร่างผู้หญิง ผู้ดูผลงานจะมองเห็นมิติลึกของประเด็นศิลปะอย่างชัดเจน ว่าแน่นอน ศิลปินมิได้นำเสนอภาพนมแบบยั่วยุไปในทางกามารมณ์ แต่กำลัง เสนอภาพนมอันเป็นสัญญะของเพศ หรือภาพถ่ายของ ณัฐนลิน น้อยไม้ ชุดผู้หญิงไม่มีหัวนม ที่ชื่อชุดภาพถ่ายบ่งบอกความหมายในเรื่องเพศ หรือชุด นาทีแห่งความเงียบงัน เน้นแสดงเรือนร่างของเพศหญิง คู่กับดอกไม้ ซึ่งสามารถตีความหมายเชิงสัญญะได้

แต่สำหรับงานเขียนนั้น ผู้อ่านบางคนอาจจะตั้งคำถามว่า จะแยกงานจำพวก กระตุ้นต่อมอารมณ์ (ปลุกใจเสือป่า) กับงานเขียนโป๊เปลือยที่แสดงแนวคิดสตรีนิยม ได้อย่างไร

ก่อนอื่นคงต้อง (พยายาม) อธิบาย ให้ผู้อ่านเข้าใจว่า งานเขียนแบบโป๊เปลือย มีหลากหลายประเภท และนักเขียนหญิงที่เขียนงานโป๊เปลือยก็อาจจะไม่ได้แสดงความคิดเชิงสตรีนิยมก็ได้ เช่น งานกลุ่มที่เรียกว่า นิยายพาฝัน หรือนิยายโรมานซ์ ส่วนใหญ่มีโครงเรื่องเน้นฉากโป๊เปลือยร่วมรัก ประเภทเด็กสาวโหยหาเจ้าที่ดินเพศชายให้มาร่วมรัก สุดท้ายลงเอยด้วยความสมหวังในรัก (หรือเซ็กส์) ปัจจุบัน โครงเรื่องประเภทนี้ขยายกลุ่มทางการตลาดมากขึ้น โดยลดระดับอายุลง เกิดเป็นแนวเรื่องที่เรียกกันว่า ชิกลิท (chick-lit ย่อมาจาก chick literature ที่เน้นเรื่องรักวัยรุ่น แต่มักแทรกฉากมีเซ็กซ์ลงไปด้วย) นักสตรีนิยมฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะพวก post-modern (พยายาม) ตีความวรรณกรรมโป๊เปลือยโจ๋งครึ่มประเภทนี้ว่า เป็นการสำแดงวิธีคิดแบบสตรีนิยม นั่นคือ เปิดเผยแง่มุมเรื่องเพศในมุมมองของฝ่ายหญิง

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์โครงเรื่องกันอย่างละเอียด วิธีตีความของนักสตรีนิยมฝั่งตะวันตกไม่น่าจะถูกทั้งหมด ดังที่กล่าวมา เพราะเรื่องประเภทนี้บางเรื่องก็อาจตีความได้เป็นเพียงเรื่องระบายความใคร่ธรรมดา ด้วยโครงเรื่องที่ให้เพศหญิงตกเป็นเบื้องล่างตัวละครเพศชาย แม้กระทั่งเรื่องความต้องการทางเพศ และไม่ได้นำเสนออะไรเลยที่แสดงว่า เป็นความต้องการแท้จริงของเพศหญิง เป็นเพียงเรื่องรักในโครงสร้างแบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีฉากร่วมรักชัดแจ้งกว่าปกติเท่านั้น

หากจะให้มองอย่างวิเคราะห์ อาจจะต้องมองรายละเอียดในแต่ละเรื่องลงไป อีกทั้งค้นให้ลึกถึงวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ว่าวรรณกรรมโป๊เปลือยเรื่องใดมีมุมมองแบบสตรีนิยม

นักเขียนหญิงของไทยคนที่ทำให้วงการวรรณกรรมตื่นตระหนก คงต้องกล่าวถึง สุจินดา ขันตยาลงกต นักเขียนหญิงที่มีผลงานเรื่องแนวอิโรติก ปรากฏมากมายในช่วง พ.ศ. 2535 – 2540 และมีหนังสือรวมเรื่องสั้นรวมเล่ม 5 เล่ม โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ คือ ใจดวงเปลี่ยว (2535) เหมือนระบำดอกนุ่น (2536) ปาร์ตี้ (2538) ภาพร่างเหมือนจริง (2540) เรื่องสั้นคัดทิ้ง (2540)
งานเขียนของ สุจินดา เน้นเรื่องเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงเป็นแนวทางการเขียนหลัก นำเสนออารมณ์และความรู้สึกที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความรัก ความใคร่ เพศสัมพันธ์ ผ่านมุมมองของเพศหญิง ที่มีลักษณะเป็นผู้นำในการมีเพศสัมพันธ์ ในเรื่องสั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ชัดเจน บรรยายรายละเอียดอย่างโจ่งแจ้ง แม้จะไม่ถึงหยาบคาย แต่ก็ไม่ใช่วิธีแบบเดิมที่เน้นการสร้างอุปมาอุปมัยเพื่อสร้างความสุภาพในวรรณกรรม เป็นแนวทางการเขียนที่ท้าท้ายวงการวรรณกรรมมาก เพราะไม่มีนักเขียนหญิงคนใดที่นำเสนอเรื่องในแนวทางเช่นนี้ชัดเจนเป็นแบบเดียวอย่างสุจินดา เป็นความพยายามของผู้เขียนที่ต้องการให้เรื่องเกี่ยวกับเพศเป็นเรื่องที่ธรรมดา และไม่ใช่เรื่องต้องห้าม ดังที่กล่าวไว้ว่า

“สังคมไทยควรเลิกปิดบังเรื่องเพศได้แล้ว เพราะยิ่งปิดบังให้มันลึกลับจะทำให้เด็กอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น” (สุจินดา ขันตยาลงกต, คำนำ ปาร์ตี้ , 2538, หน้า 17)

อย่างไรก็ตาม วิธีการเขียนของสุจินดา เที่ยบได้กับงานของนักเขียนหญิงเยอรมันที่นำเสนอเรื่องเพศอย่างชัดแจ้ง (ดูศิริรัตน์ ทวีเลิศนิธิ, 2538) เหมือนนักเขียนต้องการให้ผู้อ่านยอมรับว่า สิ่งที่กำลังเขียนถึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้น

เช่นในเรื่องสั้นชื่อ พิกุลแกมแก้ว เล่าถึงคู่สัมพันธ์ที่มีรสนิยมต่างกันในการมีเพศสัมพันธ์

แล้วชายหนุ่มในจินตนาการก็สวมเข้ามา เป็นร่างเดียว เธอกอดรัดเขาแน่นเข้า เพื่อไม่ให้เขาเปลี่ยนท่า...ความรักของเธอเฉิดฉาย จิตวิญญาณโลดเถลิง ปีติซาบซ่าน ความรู้สึกเปล่งประกาย นี่คือการร่วมรักที่เธอไม่เคยสัมผัส เธอร่วมรักกับใครนั่นไม่ใช่ปัญหา แต่ความรู้สึกที่ตอบสนองเป็นหนึ่งเดียว วิญญาณเดียว ท่วงท่าเดียว จังหวะเดียว เป็นการร่วมรักที่ไม่ใช่เพียงการสำเร็จความใคร่บนร่างของเขาอย่างที่เคยเป็นมา (จาก ใจดวงเปลี่ยว ,พิมพ์ครั้งที่ 4,2539, หน้า 98)

หรือในเรื่องสั้นชื่อเดียวกับเล่ม ใจดวงเปลี่ยว
ความเอยความเปล่าเปลี่ยวที่เคยมี ความอยากลิ้มชิมรส ปรารถนาที่ไม่เคยเต็มอิ่ม ใกล้สนิทแต่เหมือนไม่เคยได้สัมผัส เพียงอีกนิดน่ะ แต่ก็ยังไม่เคยแตะ ถวิลหา อารมณ์เหล่านี้ ห่างหาย ไกลเลื่อน เหมือนไม่จริง แต่ที่อยู่ตรงนี้ ที่รู้สึกอยู่นี่ ตรงอ้อมขาไหวระริก นี่ซิ...ความจริง (จาก ใจดวงเปลี่ยว ,พิมพ์ครั้งที่ 4,2539, หน้า 83)

ความสำคัญของสุจินดา ต่อการเขียนงานวรรณกรรม คือ สุจินดา เน้นการสร้างงานแบบเดียว หรือพูดง่ายๆ เน้นการเขียนเรื่องโป๊เปลือย แต่การโป๊เปลือยในเรื่องของสุจินดา เน้นการสร้างมุมมองใหม่ในเรื่องเพศ นำเสนอความคิด ปละการโต้แย้งสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ผ่านตัวละครหญิง นับเป็นความโดดเด่นอย่างยิ่ง แต่ที่น่าเสียดายคือ หลังจากขึ้นถึงขีดสุดของเธอ เมื่อเธอย้ายไปใช้ชีวิตต่างประเทศจากนั้นกลับไม่มีงานเรื่องสั้นแบบนี้ออกมาอีก แต่เธอก็พัฒนาไปเขียนนวนิยาย ที่นำเสนอประเด็นของผู้หญิงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สุจินดา มิใช่คนแรก และคนเดียว ที่เขียนเรื่องโป๊เปลือย ที่นำเสนอประเด็นแบบลัทธิเฟมินิสม์ เพียงแต่เธอเป็นคนที่ทำให้เกิดการถกถียงกันในวงกว้าง มีทั้งผู้ชื่นชม และผู้ก่นด่า มากมายคนหนึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา


ภาพเปิด
fe04 ภาพร่างเหมือนจริง สุจินดา ขันตยาลงกต 2540
คลิกเข้าไปจะเจอภาพ
fe01 ผลงานของพินรี สัณฑ์พิทักษ์ (The Trio, 2539)

Saturday, February 17, 2007

สวย สวย สวย สวย สวย ซ้วย ซ้วย สวย

(ภาพนี้ไม่ได้ถ่ายเอง แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดโหลดมาไว้ในเครื่อง ขออภัยที่ไม่สามารถระบุที่มาได้)

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยช่างยิ่งใหญ่ออกหน้าออกตา ในฐานะประเทศเจ้าภาพการประกวดนัง เอ๊ย นางงามจักรวาล ที่ต้องบันทึกไว้เป็นผลงานระดับโลก โอ้อวดกันไปอีกสามปี ห้าปี โหย…อะไรจะปานนั้น …นอกจากเราจะได้เป็นเมืองแห่งแฟชั่น…(ที่ยกเลิกไปแล้ว ก๊าก) แล้วเรายังได้เป็นเมืองแห่งนางงามกลางเมืองอีกด้วย… ไม่ยินดีวันนี้แล้วจะไปยินดีวันไหนได้อีก

เรื่องการประกวดนางงาม เราก็เคยคุยกันไปบ้างแล้ว วันนี้เราจะมาชื่นชมความงามกันอีกที ด้วยการยกเวทีขึ้นมาไว้ที่หน้ากระดาษ
สมมติว่าเราคือคนดู นั่งหน้าเวทีเลย เอาใกล้ๆ เห็นทุกร่อง เอ๊ะ ไม่ดี เอากำลังดี เห็นบนเห็นล่าง น่าน…ยังง้าน เงยหน้านิด นั่นไง สาวงามที่มาประกวดกันกลางเมือง เขาเดินกันมานั่นแล้ว บิดซ้าย บิดขวา หุบนิด อ้าหน่อย (หมายถึงปากเจ้าค่ะ) หมุน กิ๊บ กิ๊ว ผ่านไปหนึ่ง มาอีกหนึ่ง…เหมือนเดิม….
สวยไหมล่ะ สวยในสายตาของคุณ หรือสวยในสายตาของใคร หรือสวยแบบไหน หรือสวยแบบที่ใครต้องการ
ถ้าถามฉัน สวยในสายตาของฉันก็คือ สวยเท่ เดินยังกะจะมาต่อยใคร ยกไหล่นิดนึง หน้าเข้ม ตาคม นมแบนเหมือนเคต มอสส์ (Cate Moss- ต้นตำรับนมแบนไม่สนใจใคร [โว้ย]) แต่นี่ย่อมไม่ใช่สวยในสายตาของคณะกรรมการนางงามจักรวาลแน่นอนล่ะ นี่เขาเรียกทัศนะส่วนบุคคล
แต่สวยในสายตากรรมการ มันคือสวยในมาตรฐานใคร

นอกจากประกวดนางงามจักรวาล มีใครเคยได้ดูรายการ ประกวดนางงามหงส์ (Swan) ทางช่องยูบีซีบ้าง หากใครชอบดูการประกวดนางงาม ผสมผสานรายการเรียลลิตี้โชว์ล่ะก็ล่ะก็ ขอแนะนำว่า ดูรายการนี่ดีกว่า โคตรมันเลย (ไอ้พวกบิ๊กบราต้งบราเตอร์ตกเวทีไปโน่นเลย) ฉันขอเรียกว่า ประกวดสุดขั้ว ถอนรากถอนโคน เพราะเป็นการให้ผู้สมัครจากทางบ้านประกวดกันสวย ก็ไม่ว่าพวกเธอเหล่านั้นจะ แก่ ย้วย ยาน ฟันผุ ตาเข ปากแหว่ง ขนาดไหน ขอเชิญสมัคร เพราะรายการจะปฏิวัติความงามของเธอพวกนั้น ด้วยการศัลยกรรมใหม่ทั้งตัว!!~ สุดยอดการประกวดตัวจริงเสียงจริง ในการประกวดจะตั้งต้นด้วยการปรึกษาว่าจะผ่าอะไรบ้าง ทำอะไรกับร่างกายและมีบำบัดจิตด้วย (เนื่องจากผู้เข้าประกวดมักเป็นพวกสุขภาพจิตตกต่ำ เพราะคิดว่าตัวเองไม่สวย) เธอจะกลายเป็นวัตถุเพศหญิงชิ้นหนึ่ง ที่ต้องมาอยู่กับกองประกวด เขาจะทำอะไรกับเธอก็ได้ ผ่าโน่น ผ่านี่ โดยที่ห้ามเธอดูกระจก จนกว่าจะถึงวันตัดสิน ซึ่งก็ประมาณ 3 –5 เดือนนั่นละ
พวกเธอต้องการสวย และสวย ยอมกระทั่งเป็นตัวอะไรก็ได้

แล้วมันต่างอะไรกับพวกที่ประกวดนางงาม ทั้งจักรวาล ไม่จักรวาล เมื่อเรายอมรับว่าเราต้องการสวย และทำตัวให้สวย ด้วยการยอมเป็นวัตถุชนิดหนึ่ง ให้เขาทำอะไรก็ได้ เขาจับให้เดินก็เดิน ให้หมุน ให้บิด

แล้วมันต่างอะไรกับเราธรรมดาที่ทำตัวให้สวยภายใต้ความต้องการของใครก็ไม่รู้ เพราะจู่ๆ เราก็เกิดอยากผิวขาวอมชมพูขึ้นมา ทั้งๆ ที่เมื่อ 10 ปี ก่อนหน้านี้มันไม่มีนะ วาทกรรมขาวอมชมพู นี่น่ะ (คงเป็นวาทกรรมระดับท้องถิ่น)

แล้วสายตาของใครที่จับจ้องเรากันแน่ สายตาของกรรมการ สายตาของผู้ชม สายตาของพ่อแม่ สายตาของพวกหื่นกาม

ถ้าตอบแบบสตรีนิยม เราก็จะได้คำตอบสำเร็จรูปว่า เราตกอยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ เราจึงตกอยู่ในมาตรฐานของสายตาของผู้ชาย ที่กำหนดความงามแบบผู้ชาย และเราก็พยายามจะสวยเพื่อสนองสายตาของผู้ชาย เท่านั้นหรือ ไม่เท่านั้น

ปัจจุบันมันเหมือนว่า สายตาของชายเป็นใหญ่มันจะยิ่งใหญ่ขึ้นด้วยผลประโยชน์ ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยความต้องการมีอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงยิ่งนำมาซึ่งวาทกรรมความสวยอันมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากขาวอมชมพู ก็เพิ่มเป็นสวยด้วยวงแขนขาว ต่อไป ‘ฮูขี่ ฮูดาก’ ก็อาจต้องขาวอมชมพูกันแล้ว ถึงจะเรียกว่าสวยตัวจริง

สวยอย่างนางงาม ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา มันต้องมีอ๊อพชั่น เช่น ฉลาดด้วย เพิ่มรักเด็ก รักธรรมชาติเข้าไปอีก บางพวกก็ฉีกแนวไปเป็นทูตวัฒนธรรม ไปโน่น
มันไม่ใช่แค่สายตาหื่นๆ ทั่วไปอีกแล้วที่กำหนดกรอบความสวย แต่มันกลายเป็นสายตาของผลประโยชน์ สายตาของการเมืองของผู้ชายที่ใช้ความสวยเป็นสิ่งครอบงำผู้หญิงไว้ และยังเป็นการเมืองเรื่องเศรษฐกิจระดับโลก ที่จะต้องดึงผลประโยชน์จากการสร้างความสวยให้เกิดขึ้นในโลก ในเมื่อธุรกิจสงครามมักถูกต่อต้าน ธุรกิจความสวยนี่ล่ะที่มาช่วยชีวิตเศรษฐกิจโลกได้บ้าง เพราะดูแค่ประเทศไทย กะอีแค่รางวัลแต่งกายลิเกยอดเยี่ยมก็ต้องแย่งเขามา เพื่อจะได้ใช้อำนาจจากรางวัลนั้น เป็นอำนาจในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อความ “แรงข้ามทวีป” เข้ากับวาทกรรมใหม่ ที่ว่า “ความสวยคืออำนาจ” อันนี้เป็นถึงอำนาจระดับโลกทีเดียว จะว่าไปแล้ว กี่สิบกี่ร้อยปี นารีก็ยังมีรูปเป็นทรัพย์เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แล้วดูเหมือนทรัพย์นั้นจะเพิ่มค่าขึ้นเสียด้วย

คล้ายกับว่า เราคงต้องเชื่อเสียแล้วว่า ระบบชายเป็นใหญ่อยู่คู่กับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อย่างแยกไม่ออก
และก็อาจต้องเชื่อว่า ประเทศไทย พยายามจะส่งนางงามเป็นสินค้าส่งออก
นี่ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ เป็นแต่ข้อสังเกตของฉัน