Wednesday, July 18, 2007

แม่ และ เมีย



ก่อนแต่งงาน ข้าพเจ้าคบกับแฟนยาวนานกว่า 8 ปี คำถามยอดฮิตคือ “เมื่อไหร่จะแต่งงาน” จนชีวิตการแต่งงานของข้าพเจ้ากินเวลานาน 3 ปีแล้ว คำถามยอดฮิตตอนนี้ก็คือ “เมื่อไหร่จะมีลูก” เป็นคำถามของผู้หวังดีที่เห็นว่า ควรจะรีบมีลูกเสียที ก่อนที่จะแก่
สังคมไทย คาดหวังให้ผู้หญิงมีที่พักพิง มีผัวเป็นตัวเป็นตน ผู้หญิงดี ก็ควรจะมีสามีที่เหมาะสม สำหรับหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว สังคมก็คาดหวังว่า ต้องมีลูก (แต่หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน ห้ามมีลูกก่อนแต่ง)
ในทางธรรมชาติ เพศเมีย ย่อมคู่กับการอุ้มท้อง เพราะสรีระของเพศเมียประกอบด้วยรังไข่ และมดลูก อันเป็นอวัยวะสำคัญในการสืบพันธุ์ (ยกเว้นกรณีพิเศษ เช่น ไม่มีมดลูก หรือ มดลูกฝ่อ รังไข่ไม่ทำงาน ฯลฯ)
ดังนั้น การคาดหวังให้เพศเมียเป็นผู้สืบพันธุ์ ย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติ
แต่ในฐานะส่วนประกอบของสังคม การที่เพศเมีย หรือผู้หญิงมีลูก สถานะทางสังคมที่กลายเป็นภาระหนักอึ้งบนบ่าไหล่ นั่นคือ ความเป็นแม่ ซึ่งต้องดำเนินคู่ไปกับความเป็นเมีย (ถ้ายังคงความเป็นเมียอยู่-ไม่ได้หย่าขาดจากสามี)
ดังนั้นจึงมีผู้หญิงบางส่วนที่ไม่ต้องการภาระหนักอึ้งดังกล่าว พวกหล่อนยังไม่อยากเป็นแม่ แม้จะเป็นเมีย ยังไม่นับรวมผู้หญิงบางส่วนที่ยังไม่ได้แต่งงานอย่างเป็นทางการ แม้จะเป็น “เมีย” โดยพฤตินัย แต่ก็ยังไม่ต้องการเป็น “แม่” เพราะสังคมยังไม่ได้รับรองสถานภาพ “เมีย” ของหล่อน
มีเรื่องเล่าจากช่างเย็บผ้าข้างบ้าน เล่าถึงเพื่อนช่างเย็บผ้าอีกคน ที่แต่งงานมีสามีแล้ว แต่สามีเป็นคนไม่รับผิดชอบ ไม่สนใจเลี้ยงดูฝ่ายภรรยา วันหนึ่งภรรยาตั้งท้อง จึงได้ตัดสินใจไป “เอาออก” เพราะคิดว่า หากลูกเกิดมาต้องลำบากแน่นอน เพื่อนบ้านช่างเย็บผ้าเล่าไปก็เสนอความเห็นไป “สงสาร ชั้นมีผัวยังงั้นชั้นก็ไม่ยอมมีลูกหรอก ลำบากตาย”
นี่ขนาดเธอคนนั้น มีผัวเป็นตัวเป็นตน เธอก็ยังไม่อยากมีลูก
เรื่องเล่าอีกเรื่อง มาจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยมัธยมของข้าพเจ้า เมื่อเรียนระดับมหาวิทยาลัยชื่อดัง หล่อนก็กลายเป็นสาวสมัย ที่ในที่สุดก็ตั้งท้อง แต่ด้วยเพราะยังเรียนอยู่ เธอจึงไม่สามารถอุ้มท้องได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องไป “เอาออก” ด้วยเหตุผลว่ากลัวไม่มีสิทธิ์ได้รับปริญญา อันที่จริง ในที่สุดเธอก็ไม่ได้รับ เพราะเธอดันพลาดตั้งท้องมากกว่า 1 ครั้ง และ “เอาออก” ทุกครั้ง ด้วยเหตุผลเดิม แต่เธอไม่ได้รับปริญญาเพราะเธอไม่ไปเรียน ไม่เกี่ยวกับการตั้งท้อง
กรณีทั้งสองที่ยกมา ผู้หญิงสองคน ในสถานะทางสังคมต่างกัน ช่างเย็บผ้าโหล กับสาวมหาวิทยาลัยชื่อดัง เลือกเอาลูกออก เพราะไม่ต้องการเป็นแม่ ไม่พร้อมเป็นแม่ สำหรับบ้านพุทธเมืองพุทธ เธอทั้งสองก็เป็นคนบาป เป็นแม่ใจร้าย เป็นสาวใจแตก แล้วแต่จะว่ากันไป
สังคมไทย ตั้งความคาดหวังให้ผู้หญิงมากเหลือเกิน จนกลายเป็นกรอบบีบคั้น ขีดเส้นทางเดินของผู้หญิง ไม่ว่าผู้หญิงจะทำอะไร ดูเหมือนว่าผิดไปเสียหมด เมื่อเธอมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เธอได้รับคำชื่นชมว่า “ใจแตก” ในขณะที่ฝ่ายชายอาจถูกด่าเพียงว่า “เสเพล ไข่แล้วทิ้ง –ผู้ชายก็เป็นยังงี้”
เมื่อตั้งท้อง เธอก็ถูกคาดหวังว่า ต้องเป็นแม่ที่ดี เลี้ยงลูกด้วยความรัก ใครแอบเอาลูกไปทิ้งที่สถานีขนส่งนี่ รับรองว่า เสียงก่นด่าคงมีมากกว่าคำเห็นใจ
มันไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงเอาเสียเลย
เพราะพวกเธอไม่มีสิทธิ์กำหนดชีวิตของตัวเอง อนาคตของเธอ มดลูก ท้อง รังไข่ ล้วนเป็นของเธอ แต่ทว่ากลับตกอยู่ใต้การควบคุมของสังคม หากเธอต้องการจะเลือก สิ่งที่เธอเลือกก็กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เรื่องแอบกระทำ
กฎเกณฑ์ทางสังคม สร้างภาระให้เพศหญิง และแทนที่จะสร้างกรอบกำหนดให้เพศชายให้รู้จักรับผิดชอบ และเห็นใจเพศหญิง กลับกลายเป็นยิ่งสร้างบรรทัดฐานที่กลายเป็นว่า ผู้ชายทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด ลูกชายเจ้าชู้ ก็เป็นเรื่องปกติ หรือผัวชอบเมียเอาใจ เมียก็ต้องเอาอกเอาใจ ยอมทำตัวเหมือนโสเภณีให้ผัวเล่น ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดสาย “เนาวรัตน์” หรือ สาย “ระเบียบรัตน์” ก็ล้วนเป็นวิธีคิดแบบไม่เท่าเทียม และกดเพศหญิง อันกำเนิดมาจากความคิดยกย่องเทิดทูนเพศชาย
ไหนล่ะ การสร้างบรรทัดฐานใหม่ สร้างความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย
มีเพื่อนผู้ชายคนหนึ่ง บอกข้าพเจ้าว่า เรียนไปทำไม สตรีนิยม ทำไมต้องแบ่งหญิงชาย ไม่เข้าท่า เรียกร้องสิทธิสตรีทำไม ถ้างั้นก็เรียกร้องการยืนบนรถเมล์ ใช่มั้ย
ข้าพเจ้าไม่ได้ตอบเขา ว่าข้าพเจ้าเรียนสตรีนิยม เพื่อจะเอาไปใช้ในการวิเคราะห์วรรณกรรม แต่ข้าพเจ้าบอกเขาไปว่า การเรียนสตรีนิยม ก็คือการศึกษาเรื่องระบบสังคมนั่นเอง ไม่เห็นจะต้องคิดมาก แล้วก็อธิบายเรื่องความแตกต่างของวิธีคิดของกลุ่มสตรีนิยมไปพอสังเขป
ผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิสตรี มักถูกมองว่า เรียกร้องหาความลำบาก อยากยืนบนรถเมล์ อยากมีหนวด นั่นเป็นข้อหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจถึงภาระของเพศหญิง ภาระแม่และเมียที่หนักอึ้ง นอกจากนี้ยังมีกรอบเกณฑ์ที่เกิดจากผู้หญิงด้วยกันเอง ภายใต้ความคิดเทิดทูนเพศชาย ที่หันมาทำร้ายผู้หญิงกันเอง
ไม่มีหรอก มันไม่เคยมีความเท่าเทียม ตราบใดที่ผู้ชายไม่มีมดลูก และผู้หญิงไม่มีองคชาติ ดังนั้นย่อมไม่มีความเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะย้ำคือผู้ชายไม่มีวันเข้าใจสภาวะของการมีมดลูก ว่ามันลำบากมากมายขนาดไหน ทั้งทางกายภาพ และทางจิตวิญญาณ
สำหรับทางสังคม สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการมากกว่า ก็คือ ความเห็นใจระหว่างเพศ การสร้างความเข้าใจถึงภาระของเพศหญิง และสร้างความรับผิดชอบในเพศชาย
ความเท่าเทียมกันในความหมายนี้ มิใช่ว่าชายหญิง แค่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งเท่าๆ กัน
แต่มันหมายถึง การร่วม “รับผิด” “รับชอบ” ในสังคมเดียวกัน ภาระเมีย ไม่ควรมากกว่า ภาระของผัว และความเป็นแม่ ควรมีพ่อเป็นผู้ร่วมแบกภาระเดียวกัน
เข้าใจกันไหมเนี่ย