Monday, March 2, 2009

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้




ใครช่างเปรียบเทียบผู้หญิงดังดอกไม้

เป็นคำเปรียบระดับอมตะนิรันดร์กาล ที่สืบสาวไปก็จะพบความเปรียบเช่นนี้ในวรรณคดีต่างๆ มากมาย หรือในวรรณกรรมต่างประเทศก็ไม่ต่างกัน เป็นคำเปรียบสากลที่ชัดเจนว่า ดอกไม้ คือ เพศหญิง!!

และดอกไม้ นี้ ก็ถูกใช้เสมอ เมื่อต้องการ “ยกย่อง” เพศหญิง อย่างที่ข้าพเจ้ามองว่ามันมีความ “ไม่จริงใจ” อะไรบางอย่างอยู่ในคำเรียกนั้น

ดอกไม้ ในความหมายทั่วไปก็หมายถึงดอกของพืช ซึ่งในความเข้าใจทั่วไปก็สื่อถึงความสวยงาม น่าชื่นชม แต่หากมองถึงนัยยะที่ลึกลงไป จะเห็นว่า หน้าที่ของดอกไม้มีนัยยะถึงการสืบพันธุ์ ดังนั้น เมื่อหญิงสาวคนใดที่ล่อแมลงได้มากเกินกว่าสังคมจะรับได้ สังคมจึงเอานัยยะเชิงสืบพันธุ์ของดอกไม้มา “ด่า” กันเสียเลย ว่า “ดอก” ด้วยคำด่าประเภท “อีดอก” “ดอกทอง”

ข้าพเจ้า จึงมองว่า การยกย่องเอาคำว่า ดอกไม้ มาใช้ในการกล่าวถึงเพศหญิง ในกิจการอาชีพต่างๆ จึงเป็นคำยกย่องที่ “ไม่จริงใจ” มีความ FAKE อยู่เต็มเปี่ยม ในคำว่า “ดอกไม้”

โดยเฉพาะในทางการเมือง เมื่อผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง มักจะได้รับการยกย่องในทำนอง ดอกไม้

ย้อนกลับไปสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคสมัยที่พยายามสร้างชาตินิยม นโยบาย “ดอกไม้ของชาติ” เป็นนโยบายหนึ่งที่ขายได้ และฝังรากในสังคมไทยมากพอสมควร มันคือการพยายามสร้างกรอบเกณฑ์ให้เพศหญิง มากกว่าจะให้โอกาสเพศหญิงมีส่วนร่วมในการบริการประเทศ กล่าวชัดๆ คือ ไม่ได้ต้องการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง เพียงต้องการกำหนดกรอบและบทบาทให้ชัดเจน ว่า เป็น “ผู้ตาม” ที่ดี อยู่หลังเท้าของท่านผู้นำ

มีนโยบายชาตินิยมที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เช่น เรื่อง นาฏศิลป์ รำวงมาตรฐาน ที่มีเพลง ดอกไม้ของชาติ “ขวัญใจดอกไม้ของชาติ งามวิลาศนวยนาดร่ายรำ”

นี่ล่ะ หน้าที่ของเพศหญิง ในสมัยชาตินิยม การที่ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงเป็นเรื่องหลอกล่อ ให้รางวัลแก่ผู้หญิงที่เข้ากรอบเข้าเกณฑ์ เหมือนให้ขนมเด็กเป็นรางวัลเท่านั้นเอง

มาสู่ยุค นักศึกษาช่วง ก่อนและหลัง พ.ศ. 2516 การเมืองในที่อิงแนวคิดสังคมนิยม ที่ต่อต้านการกดขี่ระหว่างเพศ ทำให้ความเปรียบประเภทนี้ถูกโจมตีและทุบทำลายไปมากพอสมควร การชื่นชมผู้หญิงว่าเป็นของสวยงาม น่าทะนุถนอมถูกผู้หญิงฝ่ายซ้ายต่อต้าน และทำลายลง ผู้หญิงกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวกิจกรรมเพื่อผู้หญิงมากขึ้น โดยยึดทฤษฏีสังคมนิยมเป็นแม่บท ข้อดีอย่างยิ่งยวดคือ เกิดความก้าวหน้าในกลุ่มผุ้หญิง รู้เท่าทันค่านิยมที่กีดกันทางเพศมากขึ้น ทว่า แสนเสียดาย ที่ความเคลื่อนไหวที่อิงทฤษฎีทางการเมือง ต้องจบลง หลังความเคลื่อนไหวเพื่อสังคมถูกยัดเยียดข้อหา “ผีคอมมิวนิสต์” เรียบร้อย 6 ตุลาคม 2519

กลุ่มผู้หญิงที่เคลื่อนไหวโดยอิงวิธีคิดแบบสังคมนิยม จำต้องเปลี่ยนยุทธวิธีไปสู่การเน้น “การช่วยเหลือ” เพศหญิงที่ตกทุกข์ได้ยากแทน นั่นแปลว่า การทำงานกลับไปสู่วิธีคิดแบบเดิมๆ เน้นการช่วยเหลือ และอยู่ในกรอบเกณฑ์ที่เพศชายยอมรับได้

จนกระทั่ง พฤษภาคม 2535 คำว่า “ดอกไม้การเมือง” ถูกนำมาใช้ในภาพข่าว กลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิง เป็นภาพที่สื่อให้เห็นว่า ผู้หญิงก็ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่อย่างไรหรือ?? เป็นแค่ดอกไม้ ที่มายืนประดับฉาก ให้เกิดความสวยงาม และเวลาที่เขาไล่ยิงกัน ดอกไม้ไม่ทราบว่ากระจุยไปทางไหน ดูเหมือนจะมีประโยชน์เพียงน้อยนิด เสียเหลือเกิน

และเมื่อการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ก็เกิด “ดอกไม้สภา” ขึ้น อันหมายถึง ส.ส. ผู้หญิง ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภา แล้วมันอย่างไรกันหรือ?? เมื่อเธอเป็นแค่ดอกไม้

เพราะเมื่อถึงเวลาต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการเคลื่อนไหว ก็เห็น งัด “กระบอกปืน” ออกมาทุกที

นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตเสมอมาว่า เพศหญิง เป็นเพียงแต่ดอกไม้ ไม่ว่าจะทำอะไร พวกหล่อนก็ได้รับคำชื่นชม (?) ว่าเป็นดอกไม้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการความเห็น ดอกไม้นี่ส่วนใหญ่จะพูดไม่ค่อยได้ยิน เสียงของดอกไม้จะนุ่มนวลชวนฝันเกินกว่าจะนำพาและใส่ใจ

เมื่อเวทีการเมือง กำลังลั่นกลองศึก

เชื่อได้ว่า ยุทธวิธี “ดอกไม้” กำลังจะถูกนำมาใช้อีกครั้ง และครั้งนี้ ดอกไม้แต่ละดอก คงต้องเปี่ยมคุณภาพ ทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ (แล้วทำไมไม่ไปประกวดนางงามกันเสียเลยวะ)

ซึ่งกลยุทธ์นี้ ข้าพเจ้าถือว่า เป็นความ ไม่จริงใจทางการเมืองกันเลยที่เดียว เพราะข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า พรรคการเมือง จะเห็นคุณค่าของนักการเมืองหญิงอย่างแท้จริง

ก็แค่ดอกไม้การเมือง


1/แรก ตค 2550

No comments: