Friday, June 6, 2008

การเมืองเรื่องเพศ : นักการเมืองเลสเบี้ยน



ช่วงนี้กระแสความหลากหลายทางเพศมาแรง ในภาคการเมืองไทย นักเคลื่อนไหวคนหนึ่ง (หรือหลายคน) กำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ ซึ่งก็ไม่มีนักเคลื่อนไหวหรือนักการเมืองคนใดออกมายอมรับกันจริงๆ ทั้งที่ในทางกฎหมายแล้ว ดูว่าประเทศไทยกำลังจะก้าวหน้าในเรื่องของการให้สิทธิความหลากหลายทางเพศ

แน่นอน การยอมรับว่าตนเอง เป็นกลุ่มเพศที่สาม หรือเพศที่หลากหลาย หรือ ยังเลือกเพศไม่ได้ นั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทย แม้จะเป็นที่ยอมรับกันในสังคมว่า กลุ่มคนที่มีอาชีพจำพวก วงการบันเทิง ความสวยงาม ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม ส่วนใหญ่จะมีเพศที่สาม ทั้งยังได้รับการยอมรับว่ามี “ฝีมือ” อยู่ในขั้นแนวหน้า

แต่สำหรับวงการการเมือง ยากที่จะมีใครออกมายอมรับตรงๆ แม้จะมีข่าวลือ หรือเป็นที่รู้กันในกลุ่มนักการเมืองก็ตาม
นั่นแปลว่า การเมืองไทยยังไม่ก้าวหน้า ??

มองอย่างสายตาคนไม่ชอบการเมือง ก็ต้องบอกว่า การเมือง เป็นเรื่องของพวก “หัวโบราณ” ไร้ความก้าวหน้า ไร้จินตนาการ นโยบายส่วนใหญ่เป็นไปตามกรอบบรรทัดฐานสังคมเดิมๆ อย่าว่าแต่นักการเมืองเพศที่สามเลย แค่นักการเมืองเพศหญิง ก็ยังหาโอกาสเกิดในเวทีการเมืองได้ยาก ถึงยากที่สุด

ทั้งที่ความเป็นนักการเมืองหญิง ถูกนำมาเป็นจุดขาย สร้างความคึกคักให้วงการการเมือง โดยอาจยึดหมุดหมายสำคัญเมื่อ พ.ศ. 2536 สมัยรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้หญิงคนแรก คือ คุณหญิงจรัสศรี ทีปิรัส ช่วงนั้นองค์กรผู้หญิงก็คึกคัก ทั้งสื่อมวลชนก็ตอบรับกระแสผู้หญิงกันอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งครั้งวันที่ 17พฤษภาคม 2539 มีผู้สมัครเป็นผู้หญิงมากมาย แต่ก็ได้รับการตอบรับมาต่ำกว่าความคาดหมาย นักการเมืองหญิงที่มีชื่อเสียง เช่น คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ สายตระกูลการเมืองเก่า ที่ปัจจุบันก็ห่างเวทีการเมืองไป ที่ยังได้ชื่อว่าทำงานการเมืองอยู่ เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ปวีณา หงสกุล กัญจนา ศิลปอาชา ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า แต่ละคนมีพื้นฐานครอบเป็นครอบครัวการเมือง ทำให้สามารถทำงานการเมืองได้ต่อเนื่อง ด้วยการสั่งสมชื่อเสียงมาจากอดีต

เทียบเคียงกับประเทศแถบเอเชียด้วยกัน ฟิลิปปินส์ ก็มีประธานาธิบดีหญิง อย่าง กลอเรีย อาโรโย่ เกาหลีใต้ มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก คือ ฮาน เมียง ซุก บังคลาเทศ มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก คือ คลาลิด้า เซีย (เบกุม คาเลดาเซีย) ผู้นำพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ ตามมาด้วย คู่แข่งต่างพรรค แต่เป็นผู้หญิงเช่นเดียวกัน คือ นางฮาสินา วาเจด หัวหน้าพรรคสันนิบาต ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังคลาเทศต่อมา (แต่การเมืองในบังคลาเทศ ถูกทหารยึดอำนาจและตั้งรัฐบาลที่กองทัพสนับสนุน และห้ามอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงทั้ง 2 คนเข้าประเทศ และเกิดความรุนแรงอันเนื่องมาจากการประท้วงของประชาชน จนประธานาธิบดี เอียจัดดิน อาเหม็ด ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลรักษาการ และให้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นใน 22 ม.ค.นี้ ออกไปไม่มีกำหนด--อันแสดงถึงการใช้อำนาจแบบเพศชายยึดอำนาจทางการเมือง)

ที่สำคัญนักการเมืองหญิงส่วนใหญ่ ที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศแถบเอเชีย ส่วนใหญ่มีพื้นฐานไม่ต่างจากนักการเมืองหญิงในประเทศไทย คือมีเบื้องหลังมาจากครอบครัวนักการเมือง

คลาลิด้า เซีย ก้าวสู่เวทีการเมืองหลังจากสามี คือ ประธานาธิบดี Ziaur Rahman ผู้เป็นสามีถูกลอบสังหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524 รวมทั้ง ฮาสินา วาเจด ก็เกิดในตระกูลการเมืองคู่แข่งกับนางเซีย ที่ผลัดกันครองตำแหน่งทางการเมืองมาตั้งแต่บังกลาเทศได้รับเอกราชจากปากีสถานเมื่อปี 2514 ส่วน อาโรโย่ เป็นลูกสาวของ Diosdado Macapagal ประธานาธิบดีคนที่ 9 ของฟิลิปปินส์ ( พ.ศ.2504) รวมถึงนางอินทิรา คานธี แห่งอินเดีย ที่เกิดและเติบโตในตระกูลการเมือง


ที่เติบโตมาจากการต่อสู้และทำงานหนัก และดูจะมี “แบ็ค” น้อยกว่าคนอื่นเห็นจะเป็น ฮาน เมียง ซุก เป็นนักสตรีนิยมสายตรง เติบโตมาจากนักเคลื่อนไหวด้านสตรีนิยม ซึ่งนับเป็นผู้ที่โดดเด่นมากที่สุด ในการก้าวสู่ตำแหน่งสูงสูดทางการเมือง
จึงกล่าวไม่ได้ว่า การเมืองไทย ไม่ก้าวหน้า

แต่การเมืองทั้งโลกก็ยังเป็นแบบเดิม และโลกการเมืองเป็นพื้นที่ของเพศชายอยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจะในโลกตะวันออก หรือโลกตะวันตก
แต่สำหรับแนวโน้มใหม่ที่กำลังมาแรง เห็นจะต้องไปดูที่ญี่ปุ่น

เมื่อ คานาโกะ โอซูจิ วัย 32 ปี อดีตสมาชิกสภาท้องถิ่นเมืองโอซากา ผู้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน อาจจะก้าวมาเป็นนักการเมืองระดับชาติคนแรกที่เปิดเผยตนเองว่าเป็นชาวรักร่วมเพศ ถ้าเธอได้ชนะการลงคะแนนเลือกตั้งสภาล่างของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

แรงบันดาลใจของคานาโกะ ที่ทำให้เธอตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมืองมาจากความเจ็บปวดและการอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากเธอยอมรับต่อสาธารณชนว่าเป็นเลสเบี้ยน คานาโกะ รู้ตัวว่าเป็นเลสเบี้ยนเมื่อตอนอายุ 18 เธอกล่าวถึงสังคมว่า

"ในญี่ปุ่น คุณไม่สามารถบอกได้ว่าคุณเป็นเลสเบี้ยน ไม่มีสาวรักร่วมเพศคนไหนที่ได้มีโอกาสสร้างชื่อเสียงทางทีวีหรือด้านอื่นๆ ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจเล่นการเมืองเพื่อเปลี่ยนแนวคิดของสังคมหรือส่งแง่คิดไปยังคนอื่นๆว่าไม่ควรละอายในสิ่งที่ตัวเองเป็น"

คำเปิดอกของเธอ สะท้อนภาพความเป็นจริงของวงการการเมืองกับความหลากหลายทางเพศได้อย่างชัดเจนทีเดียว
มิได้หมายความแค่การเปิดเผยของผู้หญิง แต่การเปิดเผยของผู้ชาย ก็อาจจะนำมาซึ่งผลกระทบเดียวกัน จึงยังไม่เห็นนักการเมืองคนไหนออกมายอมรับว่าตนเองมีความแตกต่างทางเพศ
ในทางการเมือง จึงเป็นเวทีของบรรทัดฐานเดิมๆ ความเชื่อ ค่านิยมดั้งเดิม แม้จะพยายามแสดงการเปิดกว้างมากมายเพียงใด สุดท้ายกรอบความคิดเก่าๆ ก็ยังเป็นกลไกสำคัญของการเมือง
กลไกที่เชื่อว่า การเมืองเป็นเวทีของผู้ชาย