Monday, December 25, 2006

โขนแก้บน ที่สยามพารากอน

โขนแก้บน ที่สยามพารากอน



<<คลิกที่รูปเพื่อดูอัลบั้ม>>

ส่งท้ายปีหมา สยามพารากอน จัดการแสดงโขนกลางแจ้งชุดใหญ่ กลางลานระหว่างสยามพารากอนกับสยามดิสคัฟเวอรี

ประกาศตามสื่อว่า เป็นการแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอนพิเศษ ทัพพระรามชนะทัพทศกัณฑ์

อันรามเกียรติ์ตามท้องเรื่อง สมัยที่เรียนหนังสือ เราจำได้ว่า กว่าพระรามจะฆ่าทศกัณฑ์ได้ ต้องให้หนุมานเหาะไปยังเขา หากล่องดวงใจของทศกัณฑ์มาทำลาย

ทว่า รามเกียรติ์ ฉบับสยามพารากอน นี้ ทัพพระรามพระลักษณ์ ต่อสู้กับทัพทศกัณฑ์ ไม่นาน ผลัดกันปีนตัวแล้วพระรามก็ชนะ (ง่ายๆ ซะงั้น)
ชวนให้คิดเหลือเกิน ว่านี่คือ “โขนแก้บน” อันเล่นเรื่องเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองไทย

อย่าลืมว่า สยามพารากอนนี้ เป็นฉากสำคัญฉากหนึ่ง ของการต่อสู้ภาคประชาชน ในการเดินขบวนขับไล่ผู้นำประเทศ ภาพประชาชนที่มาชุมนุมกันวันนั้น นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นฉากอันแสดงความเปลี่ยนแปลงของ “สัญญะ” เมื่อ ประชาชนมิได้รวมตัวกันที่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” หากแต่รวมตัวกันที่ “ห้างสรรพสินค้าสุดหรูกลางเมือง” สัญญะของทุนนิยมสุดขั้ว เพื่อขับไล่นายก “ทุนนิยมเบ็ดเสร็จ” หรือ เผด็จการทุนนิยม (อันข้าพเจ้าหมายถึงการใช้อำนาจเงินควบคุมระบบทุนนิยมทั้งหมด)

ข้าพเจ้าไม่ลืม ว่าวันเดินขบวนนั้น ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ไม่เปิดบริการ ทว่า ก็ได้นำน้ำมาบริการแก่ประชาชนผู้มาชุมนุมกัน (โดยการนัดหมายของคุณสินธิ ลิ้มฯ) ไม่อาจตีความว่า สยามพารากอน สนับสนุนประชาชนอยู่ลึกๆ แต่ไม่แสดงออกชัดเจนแจ่มแจ้ง (ตามลักษณะของธุรกิจแบบทุนนิยม)

ทว่า เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เมื่อกองทัพออกมาเล่นบททหารหาญ หนุมานผู้จงรักต่อพระราม ในที่สุดทศกัณฑ์ ก็สิ้นอำนาจ ขบวนพระรามพระลักษณ์และนางสีดา ก็กลับเข้ามาครองอำนาจในบ้านเมือง มวลเทวดา นางฟ้า นางอัปสร ทาสีทองอร่าม จึงออกมาร่ายรำกลางเมือง แสดงความจงรักภัคดี และแสดงถึงอำนาจเชิงอภินิหาร ตามสัญญะของวรรณคดี

โขนชุดนี้ จึงนับเป็นโขนแก้บน แห่งประวัติศาสตร์ เมื่อบ้านเมืองกลับสู่รูปรอยเดิม

จึ่งพระอินทราชัยทรงครองราชย์...
จึ่งนักปราชญ์ราชครูทรงศักดิ์ศรี
จึ่งประชาอาณาราชยังปรีดี
อำนาจนี้...มีขึ้นลงคงเข้าใจ....

Thursday, December 14, 2006

มดลูกของเราหรือมดลูกของใคร กับสิ่งที่เรียกว่า สิทธิแห่งการสืบพันธุ์ (Reproductive Rights)

ตอนที่แล้วฉันเล่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวแบบเพศหญิง เรื่องมดลูกของฉัน และทิ้งท้ายเรื่องการถกเถียงเรื่องมดลูกไว้ ในคราวนี้ฉันขอยกประเด็นแบบสตรีนิยม มาถกและเถียงบ้าง



ข้อเสียอย่างหนึ่งของนักวิชาการ (ไม่เฉพาะเรื่องสตรีนิยม) คือ ชอบพูดเรื่องง่ายให้ฟังยาก และพูดเรื่องยากให้ฟังโคตรยาก!! แต่อย่างว่า การรับเอาทฤษฎีจากต่างประเทศมาอธิบายเป็นภาษาไทยย่อมจะยาก ด้วยศัพท์แสงที่ไม่รู้จะเรียกเป็นไทยอย่างไรให้ครอบคลุมความหมายตามต้นทฤษฎี

ในกรณีของเรื่องสตรีนิยม เอาแค่คำว่า gender, sex, sexuality, radical feminism ก็ถอดเป็นไทยกันวุ่นวาย และโดยเฉพาะคำที่นำมาเป็นหัวเรื่องคราวนี้ นั่นคือ คำว่า Reproductive Rights ซึ่งนักสตรีนิยมไทยแปลเป็นไทยว่า สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์

จริงๆ ฉันว่าคำ Reproductive ถ้าแปลว่า “สืบพันธุ์” น่าจะให้ความหมายตรงมากกว่าคำว่าเจริญพันธุ์ แม้จะฟังทื่อมะลื่อและชวนตะขิดตะขวงยิ่งนัก แต่ในความเห็นแบบทื่อๆ ของฉันเห็นว่าตรงดี ดังนั้น Reproductive Rights ก็น่าจะแปลว่า “สิทธิแห่งการสืบพันธุ์” ชัดเจนแจ่มแจ้งเข้าเรื่องเข้าราวดี และแน่นอน...เรื่องแห่งการสืบพันธุ์นี้ต้องมี “มดลูก” เป็นตัวละครเอก

ภาพรวมของสิทธิแห่งการสืบพันธุ์ แบ่งเป็นสองประเด็นใหญ่ คือ สิทธิในการควบคุมร่างกายของเพศหญิง และสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์หรือสืบพันธุ์


ฉันจะจับเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับมดลูกโดยแท้ คือเรื่องสิทธิในการสืบพันธุ์ ซึ่งตามทฤษฎีแบ่งไว้เป็น 1. การท้อง 2. การไม่ท้อง และ 3. ความตั้งใจที่จะไม่ท้อง

หากยึดหลักสิทธิในร่างกาย มดลูกของใครย่อมเป็นมดลูกของคนนั้น (แน่ล่ะ) และคนนั้นจะทำอย่างไรกับมดลูกของตัวก็ได้ เป็น “สิทธิส่วนบุคคล” ทว่าตามหลักจริยธรรม สังคม รวมถึงศาสนา แล้ว มดลูกกลายเป็นเรื่องสาธารณะ

ในสังคมไทย การพูดถึงเรื่องสืบพันธุ์อย่างโจ่งแจ้งเป็นเรื่องหยาบคายไม่สมควร (ไม่รู้เป็นตั้งแต่เมื่อไหร่) ทว่าการกล่าวถึงอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า และลดปัญหาผู้หญิงไปได้มากกว่า ฝ่ายหญิงจะได้ไม่เก็บกด และกลายเป็นแพะรับบาปตลอดกาล


ข้อประเด็นแรกคือสิทธิในใช้มดลูกของตน มดลูกถูกตีค่าต่ำกว่าอัณฑะ การใช้อัณฑะอย่างฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องการสำแดงอำนาจของเพศชาย ทว่าเมื่อมดลูกถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือยบ้าง กลับกลายเป็นเรื่องของความใจแตกแหลกเหลวเลวชั่ว ทั้งที่ประเด็นควรจะอยู่ที่การสามารถเลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้มดลูกของตนตามความพอใจ และต้องได้รับความปลอดภัย ภายใต้การดูแลจากสังคม อันหมายถึงการให้ความรู้ในการดูและรักษามดลูกที่ถูกต้องจากสังคมและรัฐ แต่สังคมไทยไม่ใช่แบบนั้น เมื่อมีองค์กรบางองค์กรพิมพ์หนังสือประเภทให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ มักถูกต่อต้านในทำนองว่าชักชวนให้เด็กใจแตก และส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์


การให้ความรู้เรื่องการใช้มดลูก แท้จริงแล้วเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมด้วยซ้ำ เมื่อเด็กสาวรู้จักร่ายกายของตนดีพอ จึงจะสามารถดูแลและรักษาสิทธิของตนได้ และไม่นำไปสู่ปัญหาตามมา --ปัญหาที่เกิดจากมดลูกนั่นล่ะ


เมื่อเด็กสาวท้อง มดลูกของเธอจะกลายเป็นมดลูกของสังคมทันที การตัดสินใจเอาไว้ หรือเอาออก เป็นเรื่องของญาติ พ่อแม่พี่น้อง รวมถึงแฟน ที่สำคัญยังมีเรื่องของเศรษฐกิจสังคมมาเป็นเหตุผลประกอบอีกด้วย และโดยที่รัฐแทบจะเพิกเฉยกับประเด็นท้องขณะไม่พร้อม เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำแท้งด้วยเหตุผล-ไม่พร้อม ทว่ารัฐ-กฎหมายก็ไม่มีบทบังคับอะไรที่เป็นการปกป้องเพศหญิงที่ต้องเป็นแม่โดยไม่พร้อม ไม่มีสวัสดิการสังคม ไม่มีแม้กระทั่งการให้ความรู้ใดๆ แก่ผู้หญิงที่ท้องโดยไม่พร้อม ทั้งที่ในความเป็นจริง ปัญหาของผู้หญิงมีมากมาย เด็กสาวอาจมีคำถามง่ายๆ ว่าจะเรียกร้องให้พ่อเด็กในท้องมารับผิดชอบอะไรได้บ้าง หรืออาจจะสงสัยว่าจะไปเอามารหัวขนนี้ออกได้ที่ไหน!!


อย่างที่เคยพูดเรื่องการทำแท้งไปแล้วในตอนก่อนๆ ประเด็นนี้เป็นประเด็น “หาเรื่อง” เป็นข้อถกเถียงระหว่างสิทธิของเจ้าของมดลูก กับสิทธิของชีวิตในมดลูกที่กำลังจะก่อกำเนิด ประเด็นนี้ถูกโต้ตีโดยนักสตรีนิยม ซูซาน แพชเชสกี้ ว่าความสัมพันธ์ของหญิงท้องกับตัวอ่อนในท้อง แท้จริงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับ “ส่วนหนึ่งของร่างกาย” ของตนเอง ไม่ใช่ความสัมพันธ์ของคนสองคน การนำกฎหมายอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคนหนึ่งฆ่าอีกคนหนึ่งมาใช้กับผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่อง “ไร้สาระยิ่ง”


ถ้ายึดหลักการนี้ ก็เรียกได้ว่า การทำแท้งเป็นสิทธิของเจ้าของมดลูกอย่างแท้จริง ทว่า...อย่าลืมว่า มดลูกไม่เคยมีสิทธิเหนืออัณฑะ อันกำหนดกรอบเกณฑ์ของมาตรฐานสังคม ทฤษฎีแบบสตรีนิยมที่ของเจ๊แพชเชสกี้ จึงยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมทั่วไป

เพื่อนหญิงของฉันคนหนึ่ง พันธุ์ทิพย์ ธรรมโชโต--(ขอเอ่ยนาม เพราะเป็นการอ้างถึงแนวคิดของเธอ ไม่ต่างจากการอ้างถึงแพชเชสกี้) พูดเรื่องมดลูกไว้อย่างน่าสนใจ เธอบอกว่าพระเจ้าลำเอียงตั้งแต่แรกสร้างมนุษย์ (ประเด็นพระเจ้านี้สงสัยว่าจะต้องถกเถียงกันยาว เอาเป็นว่า หมายรวมถึงพระเจ้าทุกองค์ และรวมถึงธรรมชาติสร้างโลกตามทฤษฎีวิวัฒนาการด้วย) แน่จริง ทำไมไม่สร้างให้มีมดลูกกันทั้งสองเพศ อยู่ที่ว่าใครจะแจ๊กพ็อตเป็นฝ่ายท้อง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การข่มขืนคงไม่เกิด เพราะเผื่อไอ้ฝ่ายผู้ข่มขืนมันท้องขึ้นมา มันจะเดือดร้อน ดูๆ ว่า คุณพันธุ์ทิพย์ เธอก็เข้าประเภทเฟมินิสต์กับเขาเหมือนกัน วิธีคิดของเธอก็คล้ายๆ กับที่นักสตรีนิยมมักกล่าวถึงตำนานพระเจ้า ที่กล่าวว่าผู้หญิงกำเนิดมาจากซี่โครงข้างขวาของผู้ชาย เป็นเรื่องลำเอียงพอๆ กันทีเดียว

ประเด็นของคุณพันธุ์ทิพย์กล่าวโทษไปถึงเรื่องที่มักถูกอ้างว่าเป็นธรรมชาติ นั่นคือ มดลูก การสร้างมดลูกที่จำเพาะเจาะจงเพียงเพศเมียเท่านั้น นำมาซึ่งภาระใหญ่หลวงของความเป็นแม่ ในขณะที่ประเด็นเรื่องเล่าแห่งพระเจ้า(กับซี่โครงข้างขวา) เป็นการตอกย้ำภาพรวมของโลก นั่นคือมุมมองแบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบคลุมเรื่องเล่าทุกเรื่องในโลกใบนี้ โดยใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือ--เป็นเหตุผลว่าทำไมทฤษฎีแบบสตรีนิยมจึงได้รับการตอบรับน้อยเหลือเกิน โดยเฉพาะในประเทศไทย--เพราะเหล่าผู้หญิงเติบโตและถูกหล่อหลอมมากับเรื่องเล่าแบบชายเป็นใหญ่ ฝ่ายหญิงย่อมเป็นรอง และไม่มีทางโต้แย้งได้เลย พื้นที่ของเพศหญิงก็คือทำหน้าที่แบบผู้หญิงๆ ของพวกเธอให้ดีพอ เช่น จงสวย ขาว อวบ อึ๋ม ให้เต็มที่ จงเป็นนักการเมืองสวยเก่งดูดี จงเป็นแม่พระของผู้หญิงตกยาก จงช่วยเหลือสังคม โดยสรุปก็คือ จงเล่นบทบาทตัวประกอบของพวกหล่อนให้ดีที่สุด ในขณะที่ผู้หญิงหัวแข็งจะกลายเป็นพวก “ไม่รู้จักบทบาทและสถานะของตน” ไปในทันที ดังนั้นแล้ว..การเรียกร้องสิทธิให้โสเภณีจึงกลับไม่ได้รับการร่วมมือจากผู้หญิงคุณนางคุณนายหลายกลุ่ม


ในขณะที่บางคนท้องโดยไม่ต้องการ ก็มีผู้หญิงบางคนไม่ต้องการท้อง เธอไม่ต้องการใช้มดลูกของเธอเพื่อสืบพันธุ์ (เพียงแต่อาจใช้เพื่ออย่างอื่นบ้าง--แต่ไม่ต้องการสืบพันธุ์-เข้าใจมั้ย) หล่อนจะกลายเป็นหญิงผิดปกติทันที่ คนอะไรไม่อยากมีลูก เพราะสังคมตั้งกรอบเกณฑ์ความเป็นแม่ไว้ชัดเจน สังคมไม่มีเรื่องเล่าที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเป็นแม่ นอกจากเรื่องประเภท-สาวทึนทึก ขึ้นคาน ขายไม่ออก เท่านั้นยังไม่พอ หากผู้หญิงแต่งงานไม่มีลูกก็อาจกลายเป็นความผิดของชีวิตได้ โทษฐานไร้ประสิทธิภาพในการสืบทายาท

จะเห็นได้ว่าการเป็นฝ่ายครอบครอบมดลูก นำมาซึ่งภาระมากมาย ในขณะที่เรื่องเล่าของผู้ชายก็ยิ่งตอกย้ำความต่ำกว่าด้อยค่าของมดลูก ที่น่าเจ็บใจที่สุดก็คือ ผู้ครอบครองมดลูกด้วยกันเอง ดันไม่อยู่ข้างมดลูกเสียนี่!!

Sunday, December 3, 2006

เรื่องของมดลูก



เรื่องของมดลูก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามา ฉันมีอันต้องพบกับประสบการณ์แบบเพศหญิง ที่แน่นอนว่าเพศชายไม่มีวันรับรู้ความรู้สึกแบบผู้หญิงอย่างนี้ได้ นั่นคือ เรื่องของมดลูก

มดลูก เป็นลัญลักษณ์แสดงเพศหญิง เป็นสิ่งติดตัวแต่กำเนิด เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงต้องมีประจำเดือน และนำไปสู่การความเป็นแม่อย่างแท้จริง นักสตรีนิยมมักหยิบยกเรื่องประสบการณ์แบบมดลูกๆ ทั้งหลายมาเป็นข้ออ้างว่า เป็นประสบการณ์หญิงแท้ ที่เพศชายไม่มีวันเข้าใจ

แล้วฉันก็ขออ้างเรื่องแบบสตรีนิย้ม-นิยม กับเขาบ้าง ในแง่ของประสบการณ์

อาการปวดท้องประจำเดือน เป็นประสบการณ์หนึ่งที่ฉันมีเป็นประจำ ตั้งแต่เป็นเด็กสาวจนกระทั่งเริ่มแก่ก็ยังปวดท้องสม่ำเสมอ และคนใกล้ตัว (ผู้ชาย..แน่นอน) ก็มักทำหน้างงๆ แบบไม่เชื่อว่าคนอะไรมันจะปวดท้องกันขนาดนั้น กะอีแค่มีเม็นส์ บางครั้งฉันก็สังเกตเห็นแววตาจับผิดเสียด้วย ประมาณว่า ฉันกำลังมารยาสาไถย แกล้งเจ็บออดๆ แอดๆ จะได้ไม่ต้องทำงานหนัก ฉันขอประกาศไว้เลยว่า ใครไม่ปวดท้องเม็นส์ ไม่รู้หรอกว่ามันปวดขนาดไหน ไม่ปวดเปล่า ยังหนักๆ ถ่วงๆ บีบๆ บางครั้งแถมด้วยอาการท้องเสียไม่รู้สาเหตุ แสนจะทรมาน ที่เยิ่นเย้อมาทั้งหมดนี่ เพื่อจะบอกว่า แล้ววันหนึ่ง วันนั้นของเดือน ฉันก็ปวดๆๆ อย่างปกติ ปวดตั้งแต่กลางคืนยันเช้า ทีนี้ตอนสายๆ มันชักไม่เข้าท่า เพราะมันปวดมากกว่าที่เคยปวดมาตลอดชีวิต น้ำหูน้ำตาไหลพราก ยืนไม่ไหวเลยทีเดียว อาการนอกจากที่เล่ามา ก็มีปวดแบบวาบหาย วาบหาย เหมือนมีอะไรมาบิดท้องอย่างนั้นเลย

จนในที่สุด คนใกล้ตัว (คนเดิม) ก็บึ่งรถพาฉันไปโรงพยาบาล ฉันบอกพยาบาลว่าปวดท้องไม่รู้สาเหตุ (คือตอนนั้นปวดมากจนลืมบอกว่าปวดท้องเม็นส์) พยาบาลส่งตรงไปที่หมออายุรกรรมผู้เชี่ยวชาญด้านกระเพาะอาหาร ก็ไม่รู้ปวดอะไรนี่หว่า คนไข้มันก็พูดไม่ออก นั่งหน้าเขียวอย่างเดียว รอคิวพักใหญ่ ก็ถึงมือหมอ หมอไม่ทำอะไร เอามือกดๆ สองสามที เราก็พยายามอธิบายว่าสงสัยเป็นเพราะประจำเดือน หรือเพราะอาหารเป็นพิษ (ใจคิดไปถึงหอยแครงที่สวาปามไปเมื่อสองวันก่อน) หมอไม่ว่าอะไร ส่งไปเอ็กซ์เรย์ และตรวจอุลตร้าซาวนด์ บอกว่าเดี๋ยวผลออกมาแล้วค่อยคุยกัน

ฉันถูกเข็นไปห้องเอ็กซ์เรย์ ก่อนจะเอ็กซ์เรย์ ก็ต้องเอ๊กซ์ก่อน คือถอดเสื้อผ้าทุกชิ้น เปลี่ยนเป็นเสื้อคลุมของโรงพยาบาล เอ็กซ์ฯอยู่สองรอบ เพราะฟิล์มไม่ชัด แล้วก็ถูกส่งไปอุลตร้าซาวนด์ หมออุลตร้าซาวนด์ (คนละคนกับหมออายุรกรรม) เอาเครื่องมือวนๆ อยู่ที่หน้าท้อง แล้วก็ร้องอ๋อเสียงดัง ทำนองว่าเจอแล้วๆ (มีความสุขมากที่หาเจอ) คุณปวดทุกเดือนนี่คะ (หมอผู้ชายนะคะ แต่พูดคะ-ขากับคนไข้ น่ารักเสียไม่มี) ช็อกกาแล็ตนี่ไง ปวดข้างขวามากกว่าข้างซ้ายใช่มั้ย (ถามฉัน) นี่ นี่ แล้วก็มีเล็กๆ อยู่ด้วย ไม่เป็นไร ช็อกกาแล็ตเล็กน้อยเป็นเรื่องธรรมดา ว่าแล้วก็จบการอุลตร้าซาวนด์

สารภาพตามตรง ตอนหมอบอกว่าช็อกกาแล็ต ฉันยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคืออะไร แต่ฟังจากน้ำเสียงของหมอคล้ายว่าจะไม่เป็นไรเท่าไหร่ กลับไปหาหมออายุรกรรมคนเดิม หมอดูผลตรวจทั้งมวลแล้วก็ตกลงส่งฉันต่อไปยังหมอสูตินรีเวช ตอนนั้นเองฉันก็เริ่มหนาว หนาวสั่นจริงๆ ไม่ใช่หนาวกลัว หมอสูฯ ถามย้ำอยู่สองสามคำถาม คือ คุมกำเนิดยังไง (ตอบว่าไม่ได้คุม) เคยทำแท้งหรือเปล่า (อันนี้ย้ำมาก ตอบว่าไม่เคย ก็ถามย้ำอีก หน้าตาท่าทางต้องเหมือนแน่ๆ เลย) และมีไข้หรือเปล่า (อันนี้ในที่สุดปรอทวัดไข้ก็ตอบว่า 38 องศา) หมอจับตรวจภายใน (ขอบอกว่ากลัวชะมัด) สรุปว่าฉันเป็นซีสต์ที่ปีกมดลูก ขนาดไม่ใหญ่ แต่ต้องดูอาการ ในที่สุดฉันก็ถูกจับนอนโรงพยาบาล โดยมีเสียงของหมอสูฯ ดังก้องในหัวว่า ถ้าคุณอักเสบมากต้องผ่าตัด เรื่องใหญ่นะคุณ

ฉันถูกจับอดอาหารและน้ำ ถูกฉีดยา ถูกตรวจเลือด และถูกตรวจร่างกาย (จำพวกวัดไข้ วัดความดัน) ทุก 1 ชั่วโมง

เช้าวันต่อมาคุณหมอสูฯ ก็มาพร้อมข่าวดี คุณเป็นซีสต์นั่นล่ะ ผลเลือดออกมาว่ามีอาการอักเสบ และคุณจะต้องผ่าตัดตอน 10 โมงเช้า ข่าวดีมากๆ ด้วยไม่ต้องเตรียมตัวอะไรอีกแล้ว ได้แต่เตรียมใจ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่เข้ามาเอาเอกสารยินยอมและเอกสารประกันให้เซ็น ทั้งยังมีหมอสาวหน้าตาน่ารักมากอีกคนเข้ามาแนะนำตัวว่าเป็นวิสัญญีแพทย์ (หมอวางยา) จะเป็นคนวางยาฉันในการผ่าตัด หมอเข้ามาพูดคุยเป็นการผ่อนคลาย สร้างความมั่นใจ ซึ่งฉันก็เห็นว่าฉันไม่ถึงกับเครียด เพียงแต่มันรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน

ใกล้เวลาสิบโมงเช้า พยาบาลเข้ามาเตรียมร่างกายของฉันให้พร้อมรับการผ่าตัด เปลี่ยนชุดเป็นชุดสีเขียว และที่สำคัญที่สุดคือการบวชชีน้องสาวนั่นล่ะ ฉันคิดว่าคนเป็นพยาบาลนี่ช่างเป็นอาชีพที่น่าสงสารเป็นที่สุด ต้องมาทำอะไรแปลกๆ ให้คนไข้อย่างเราๆ ทำทุกอย่างกับร่างกายของคนที่ตัวไม่รู้จักอะไรแม้แต่น้อย และทำอย่างเป็นธรรมดาที่สุด จนฉันไม่รู้ว่าจะเขินอายไปทำไม

บุรุษพยาบาลเข็นเตียงเข้ามา เป็นเตียงเตรียมเข้าห้องผ่าตัด ใจฉันเต้นแปลกๆ บอกไม่ถูกว่าอารมณ์ไหน พอเข้าไปห้องรอผ่าตัด ฉันก็ต้องเปลี่ยนเตียง เสียบเครื่องมืออะไรไม่รู้ไว้ที่หัวแม่มือ ความรู้สึกสุดท้ายก็คือ รู้สึกหนาวมากจนสั่นไปทั้งตัว ได้ยินเสียงพูดว่า คนไข้สั่น คนไข้สั่น จากนั้นก็วูบสนิท ไม่ฝัน ไม่มีนิมิตอะไรทั้งนั้น

ลืมตามาอีกทีเห็นนาฬิกาที่ผนัง เพ่งมองเข็มตั้งนานกว่าจะเห็นว่าเวลาบ่ายสอง นับเวลาในใจว่า เอ้อ ผ่าตอนสิบโมง งั้นตอนนี้ก็ผ่าเสร็จแล้วสิ เฮ้…มันผ่านไปแล้ว พอฟื้นขึ้นไม่นาน บรุษพยาบาลก็เข็นพากลับห้อง อาการตอนนั้นออกจะลอยๆ รู้สึกตัวเต็มที่เมื่อถึงห้องแล้ว

รุ่งเช้า หมอสูฯ จึงได้เข้ามาพาฉัน พร้อมรูปถ่ายชิ้นซีสต์ 2 ชิ้น จากปีกมดลูกซ้ายและขวา และก้อนอะไรอีก 1 ชิ้น หมอบอกว่าซีสต์แตก ทำให้เกิดการอักเสบและเลือดออกในช่องท้อง หมอตัดซีสต์และตัดพังผืดออก รวมทั้งไส้ติ่งอีก 1 อัน เนื่องจากการอักเสบในช่องท้องพลอยทำให้ไส้ติ่งอักเสบไปด้วย พอหมอถามว่ามีอะไรจะถามมั้ย ฉันก็ไม่รู้จะถามอะไร เก็บไว้คิดดูก่อนค่ะ

ฉันนอนโรงพยาบาลทั้งหมด 5 วัน เบื่อแสนเบื่อ และเมื่อกลับมาบ้านก็สำเหนียกขึ้นมากว่า ฉันก็มีประสบการณ์แบบเพศหญิงกับเขาเหมือนกัน และเรื่องของมดลูกนี่ พูดกันได้ยาว

คราวหน้าฉันจะถกเถียงเรื่องนี้ (กับตัวเอง) เสียหน่อย!

Friday, December 1, 2006


นักเขียนไทย กับนักเขียนเกาหลี กับบทบาทของวรรณกรรมในสังคม
ณ มหาวิทยาลัยบูรพา

มหาวิทยาลัยบูรพาจัดงานแลกเปลี่ยนข้อเสนอทางวิชาการของนักเขียนไทยกับนักเขียนเกาหลี ในเรื่องบทบาทของวรรณกรรมในสังคม ภายใต้ชื่อโครงการวัฒนธรรมแลกเปลี่ยน ไทย-เกาหลี
งานนี้ถือเป็นงานวิชาการระดับประเทศที่น่าสนใจมาก มีศิลปินเกาหลีกลุ่มเครือข่ายวัฒนธรรมเอเชีย เข้าร่วมงานกว่า 20 คน ฝ่ายเจ้าภาพไทย มีนักเขียน กวี นักข่าว บรรณาธิการ ศิลปิน เข้าร่วมงานไม่แพ้กัน เช่น ปิยะพร ศักดิ์เกษม, ประชาคม ลุนาชัย, พินิจ นิลรัตน์, วาสนา ชูรัตน์, นฤมิตร สอดสุข และ ชมัยภร แสงกระจ่าง
งานสัมมนานี้นำเสนอบทความวิชาการบนเวทีผ่านล่ามสาวน่ารัก ปาร์ค คยุง อัน (Park Kyung Eun) สาวเกาหลีที่มาเรียนปริญญาโท ภาษาไทยที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ปัจจุบันมีผลงานแปลวรรณกรรมเกาหลีเป็นภาษาไทยแล้ว 2 เล่ม
นักวิชาการเกาหลี เช ดู ซ็อก เริ่มต้นเสนอบทวิชาการเรื่อง การพรรณนาความรู้สึกแบบตะวันออกในกวีนิพนธ์เกาหลี โดยยกตัวอย่างกวีนิพนธ์ของ คิม ซู ยอง เรื่อง หิมะ ที่มีการบรรยายที่น่าสนใจ

หิมะ ///
โดย คิม ซู ยอง
หิมะยังมีชีวิตอยู่
หิมะที่ร่วงลงมายังมีชีวิตอยู่
หิมะที่ร่วงลงมายังสวนหน้าบ้านมีชีวิตอยู่
ไอกันเถอะ
กวีรุ่นใหม่ ไอกันเถอะ
ไอให้หิมะดูอย่างสะใจ และสะใจ
หิมะยังมีชีวิตอยู่
เพื่อวิญญาณและร่างกายที่สมควรตายไปแล้ว
หิมะยังมีชีวิตจนเช้าตรู่
ไอกันเถอะ
กวีรุ่นใหม่ ไอกันเถอะ
ไอโดยมองหิมะ
ถุยเสมหะที่ติดอยู่ในอกให้ออกมาอย่างสะใจเลย


เช ดู ซ็อก อธิบายว่า เรื่องหิมะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความตาย เพราะในความเป็นจริง หิมะที่ร่วงลงมาจากท้องฟ้า จะตายไปในทันที่ที่ถูกแสงแดด แต่เมื่อคิดว่าความตายมีชีวิต ชีวิตก็มีชีวิต
ส่วนบทกวีอีกบทที่ยกมา เป็นของ ซิง ตงหยอบ เรื่อง เปลือกจงหายไป
ในบทกวีบทนี้ กล่าวถึงเปลือก ภูเขาอัลลาและภูเขาเพ็กดู เดือนเมษายน เช ดู ซ็อก อธิบายว่า บทกวีนี้เป็นบทกวีการเมือง ที่กล่าวถึงการสืบสานอุดมการณ์ของคนเกาหลี โดยเริ่มจากเหตุการณ์ณ์วันธงหัก ของเกาหลี ซึ่งเป็นวันที่ชาวเกาหลีลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของญี่ปุ่น การกล่าวถึงสังคมเกษตรกรี่ปฏิวัติรางวงศ์กษัตรย์เกาหลี การต่อต้านตะวันตก ส่วนการปฏิรูปเดือนเมษายน นั้นเป็นเหตุการณ์ณ์นักศึกษาต่อต้านอำนาจทหาร คล้ายกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ของไทย บทกวีบทนี้เรียกร้องให้ชาวเกาหลีคงไว้ซึ่งความกระตือรือร้นอันบริสุทธิ์ในอุดมการณ์ณ์แห่งประชาชน กวีเชื่อมโยงเหตุการณ์ณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติเกาหลีเข้าในบทกวีบทเดียว และแสดงความมุ่งหวังถึงการสืบทอดเจนารมย์อันล้ำค่า เพื่อสร้างสังคมที่ดี
เช ดู ซ็อก กล่าวว่า กวีของเกาหลีนั้น “หายใจไปพร้อมกับผู้อ่าน” นั่นคือ ทำงานเพื่อประชาชน นอกจากนี้ เช ดู ซ็อก ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ความนิยมกวีนิพนธืในเกาหลีมีมากพอสมควร มีกลุ่มผู้อ่านที่เหนียวแน่น และแพร่หลาย

จากอาจารย์ คิม ดู ซ็อก ก็มาเป็นการเสนอหัวข้อสัมมนา เรื่อง สภาพความเป็นจริงของศิลปะเกาหลี และความคับข้องใจของนักแสดง เสนอโดย คิม ชี ซุก นักแสดงชื่อดังของเกาหลี ซึ่งอยู่ในวงการการแสดงมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่อาชีพนักแสดงยังเป็นอาชีพที่ถูกดูถูก และผู้หญิงที่เป็นนักแสดงก็จะไม่มีทางมีสามี เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม
คิม ชี ซุก เล่าให้ฟังถึง “อุตสากรรมวัฒนธรรม” ของเกาหลี นโยบายสำคัญของรัฐบาลเกาหลีคือการส่งออกวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์ และ เกมคอมพิวเตอร์ โดย คิม ชี ซุก ยกคณะบัลเลย์บอลซอย ของรัสเซียมาเปรียบเทียบว่า การส่งออกทางวัมนธรรมเช่นนั้น ก็มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้อุตสาหกรรมอื่นๆ และสร้างรายได้ได้ไม่ต่างกัน ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ท่ามกลางความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม คิม ชี ซุก เสนอว่า ปัญหาสำคัญของประชาชนในประเทศคือการเข้าถึงความเป็นศิลปะที่แท้จริง และเรียกร้องว่าต้องการให้ประชาชนหันมาสนใจนักเขียน นักแสดง และศิลปิน ในฐานะผู้สร้างงานศิลปะ เพราะศิลปะนั้นมีความสำคัญมีพลงทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่เพราะมีมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรม ประเด็นสำคัญคือ ต้องรู้คุณค่าของศิลปะเสียก่อนสิ่งอื่นใด
ภาคบ่าย ปาร์ค ซู เอียน ขยายภาพของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเกาหลีให้ชัดเจนขึ้น โดยแบ่งตามลักษณะภาพของวรรณกรรม โดยนับจากหลังได้รับเอกราชจากญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น อำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามาในปลายคตวรรษที่ 19 เอเชียต้องเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่ในความนิยมยุโรปมิได้หมายความว่านักเขียนยุคใหม่ไม่มีพลังสร้างวรรณกรรมเกาหลีแท้ๆ
ช่วง ค.ศ. 1900-1910 วรรณกรรมเกาหลีจะเน้นนวนิยายประวัติศาสตร์ รักชาติ
ช่วง 1910 วรรณกรรมอยู่ตัว เป็นรากฐานของเกาหลี เป็นสมัยที่คนเกาหลีไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นกันมาก และได้รับรูปแบบและเนื้อหามาจากญี่ปุ่น
ช่วง 1920 ก่อนปี ค.ศ. 1920 มีเหตุการณ์ณ์รณรงค์เรียกร้องเอกราชจากญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1919 ประชาชนต่อสู้กับอำนาจของญี่ปุ่น ในวันที่ 1 มีนาคม มีคนตายมากมาย และเหตุการณ์นี้ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการปกครองเกาหลี
ช่วง 1920 วรรณกรรมแสดงความรักชาติมากขึ้น กล่าวถึงประวัติศาสตร์ และบุคคลในทุนนิยม แนวทางการเขียนแบบตะวันตกแพร่เข้ามามากขึ้น ทำให้เกิดพันธมิตรทางวรรณกรรมของซูซอน กลุ่ม Politalia นักเขียนเรียกร้องเอกราชผ่านวรรณกรรม และก็มีกลุ่มวรรณกรรมบริสุทธิ์ที่ปฏิเสธจะเข้าร่วมกับพันธมิตร เป็นยุคที่วรรณกรรมเริ่มปฏิเสธตะวันตก
ช่วง 1930 ญี่ปุ่นกลับปกครองเกาหลีอย่างเข้มงวดขึ้น เคร่งครัดกว่าเดิม ทั้งเข้าไปปกครองแมนจูเลีย ทำให้ Politalia สลายตัว ตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นฟาสซิสต์สมบูรณ์แบบ และบังคับให้นักเขียนเกาหลีเขียนสรรเสริญอำนาจของญี่ปุ่น ซึ่งนักเขียนหลายปฏิเสธ และต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ
ช่วง 1950-1960 คนที่ปฏิเสธรัฐบาลต้องหลบซ่อนใต้ดิน เป็นช่วงวรรณกรรมไม่ค่อยพัฒนา
ปี ค.ศ. 1960 เกิดเหตุการณ์ 19 เมษายน นักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย ทว่าเพียง 1 ปี ใน ค.ศ. 1961 ประเทศก็กลับไปอยู่ใต้การปกครองของทหารต่อไป (เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ของไทย) รัฐบาลห้ามนักเขียนเขียนเรื่องที่ต่อต้านรัฐบาล เป็นช่วงที่นักเขียนไม่มีที่ยืนในสังคม
หลัง ค.ศ. 1979 หลังเหตุการณ์ณ์ประธานาธิบดีถูกสังหาร เกิดงานที่ต่อต้านรัฐบาลมาก วรรณกรรมปฏิเสธการเมืองทุนนิยม และให้ความสำคัญกับเรื่องชนชั้นให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมกร เกิดนักเขียนกรรมกร หรือนักเขียนเพื่อสังคม หลังจากรัสเซียล่มสลาย เกาหลีก็เริ่มสูญเสียความคิดที่เคยมี
นักเขียนรุ่นใหม่ ใช้คำสละสลวย แต่ทว่าความหมายทางการเมืองและประวัติศาสตร์หายไป

สำหรับข้อเสนอของวรรณกรรมไทย นำเสนอโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียน นักวิจารณ์ ของไทย ที่ทำงานด้านวรรณกรรมมายาวนาน อาจารย์ชมัยภร กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมไทย ดังนี้
1. สังคมไทยมีความกดดันน้อยกว่าเกาหลี สังคมไทยมีลักษณะไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่ชอบเห็นความขัดแย้ง
2. สืบเนื่องจากพื้นฐานทางสังคมของไทย ที่คนไทยนิยมการร้องรำทำเพลง ชอบมหรสพ ชอบการแสดง วรรณกรรมไทยจึงมักเน้นเรื่องบันเทิง ชอบเรื่องแบบสมหวังตอนจบ ชอบความสุข
3. คนไทย ผู้เสพงานวรรณกรรมไทย แยกความจริงออกจากความลวง กล่าวคือแยกวรรณกรรมของจากชีวิต ดังนั้น วรรณกรรมจึงไม่ส่งผลต่อการกระทำ
4. คนไทยไม่ปฏิเสธวัฒนธรรม เป็นลักษณะรวมวัฒนธรรม จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย
สถานภาพของวรรณกรรมไทย มีดังนี้
1. คงสถานภาพความเป็นงานศิลปะ จรรโลงจิตใจของคนในสังคม
2. เป็นเครื่องมือทางการศึกษา
3. เป็นเครื่องมือให้ความบันเทิงใจ
4. เป็นเครื่องมือบันทึกสภาพสังคม
5. เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต
6. เป็นเครื่องมือสนองความทันสมัย
7. เป็นเครื่องมือทางการเมือง รับใช้การเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของทุกฝ่าย อยู่ที่ฝ่ายใดจะนำไปใช้อย่างไร

หลังจากนั้นเป็นข้อวิจารณ์ของอาจารย์นฤมิตร สอดสุข และนักวิจารณืเกาหลี
อย่างไรก็ตาม นักเขียนเกาหลีก็กล่าวถึงงเรื่องรัก ที่เข้ามาแพร่หลายในสังคมการอ่านของไทยว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่าดีใจนัก เพราะเหล่านั้นไม่ใช่วรรณกรรมที่มีพลัง นักเขียนเกาหลีคิดว่างานที่ดีต้องมีพลังทางอุดมการณ์ณืมากกว่า
การสัมมนาจบลง ด้วยความชื่นมื่น และเข้าใจในวัฒนธรรมวรรณกรรมที่มีทั้งความต่างและความเหมือน
ถึงอย่างไร เราก็อยากให้คนอ่านหนังสือมากๆ และมีวิจารณญาณส่วนตัวในการพิจารณาคุ๋นค่าของวรรณกรรม ไม่ใช่อ่านตามที่เขาโฆษณา หรืออ่านเรื่องสอดรู้ของดาราบางคน เรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่ทำเป็นเรื่องให้คนอยากอ่าน
โฆษณาเหยียดหญิง

น่าจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ในโฆษณาโทรทัศน์นั้น เป็นสุดยอดแห่งการนำผู้หญิงมาทำให้ “ดูทุเรศ” สร้างภาพลวงสร้างค่านิยมความสวย ขาว อวบ ก็เรื่องหนึ่ง ค่านิยมเรื่องตัวหอมล่อผู้ชายก็เรื่องหนึ่ง ไหนจะเรื่องมีผมสวยเซ็กซี่ ล่อผู้ชาย ให้มาลูบไล้ อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องน่าสมเพชที่กลายเป็นที่ยอมรับจนเป็นเรื่องปกติ และผู้หญิงเราก็ดำรงอยู่ในกรอบปัญญาอ่อนแบบนี้มาตราบนานเท่านานจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา
แต่มีโฆษณาอีกประเภท ที่ทุเรศยิ่งกว่า
นั่นคือ โฆษณาจำพวกส่อเซ็กส์
ยกตัวอย่าง ก๊อกน้ำทองเหลือง ที่มีน้อง “หนิม” หรือสนิม นมโต นอนอยู่ในอ่างอาบน้ำ ไม่รู้พวกครีเอถีบ (ขอใช้ ถีบ เถอะ พวกคนเก่งทั้งหลาย) มันคิดอะไรอยู่ ก๊อกน้ำกับน้องหนิมนมโตเนี่ยนะ!!~ ส่อความคิดยั่วยวนทางเพศ โดยจงใจ ทว่ากลับเคลือบลวงด้วยมุกตลกหน้าด้านๆ ปัญญานิ่ม เพื่อที่จะพยายามบอกว่าโฆษณาของฉันไม่ได้โป๊นะ นี่มันยิ่งกว่าการแสดงความโป๊แบบโต้งๆ ด้วยซ้ำ
อีกโฆษณา หลอดไฟ คนขายนมหก นั่นก็มาอีหรอบเดียวกัน
หากมองแบบวิเคราะห์สัญญะ อาจจะมองได้ว่า ไอ้หลอดไฟ กับก๊อกน้ำ คือตัวแทนของเพศชาย ทั้งรูปร่างหน้าตา ความสำคัญ คือ เป็นที่เปล่งแสงสว่าง และปล่อยน้ำออกมาได้ ไม่ต่างจากองคชาติ อันสามารถเปล่งร่างให้สว่างใหญ่และปล่อยน้ำได้ คนคิดโฆษณาจึงรู้สึกว่า วัตถุทั้งสองนี้ ส่อนัยยะแสดงความสำคัญของเพศชาย และจำเพาะเจาะจงว่า ผู้หญิงนมโตเท่านั้นจึงจะคู่ควรกับการเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้าทั้งสองชนิด
โฆษณาล่าสุดที่สมควรด่า
เสื้อสุภาพบุรุษ กับแม่บ้านเซ็กส์จัด
สินค้าคือเสื้อรีดง่าย ประหยัดไฟ ช่วยให้แม่บ้านคนสวย ได้ประหยัดเวลารีดผ้า มองภาพแรกคือ โฆษณานี้จำลองบทบาททางเพศของหญิงชาย นั่นคือ ผู้ชาย คู่ควรกับสินค้านวัตกรรมใหม่ ผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้านรีดผ้า ในขณะที่ผู้หญิงคือผู้รับหน้าที่รีดผ้า
ประเด็นสืบเนื่องต่อมาคือ เพศชายมี “บุญคุณ” กับเพศหญิงเป็นอย่างยิ่ง เมื่อใช้สินค้าชนิดนี้เพื่อช่วยผ่อนแรงผู้หญิง ทำให้พวกหล่อนมีเวลาว่าง ลดการทำงานอันหนักหนาลง (โดยที่เพศชายไม่ต้องทำอะไร นอกจากใส่เสื้อชนิดนี้) และตบท้ายด้วยประเด็นที่ร้ายแรงมาก เมื่อ เพศหญิงยกมือขึ้นเพื่อปิดไฟ และเอ่ยออกมาว่า เวลาที่เหลือจะทำอะไรกันดี! ภาพที่ส่อก็คือ การปิดไฟและแสดงท่าทางโหยหาเพศรสขึ้นมาบัดดล!!
เรื่องน่าทุเรศ ที่ครีเอถีบคิดได้ คือ เพศหญิงต้องรองรับทุกอารมณ์ ทุกการงาน และต้องทำตัวเป็นนางยั่วสวาท มีความต้องการทางเพศตลอดเวลา เหตุใดจึงต้องให้เพศหญิงเป็นฝ่ายชักชวนเพศชายด้วยการปิดไฟ ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจจะเป็นผู้ชายก็ได้ที่ต้องการปิดไฟ (เสียตั้งแต่พวกหล่อนยังรีดผ้าไม่เสร็จด้วยซ้ำ)
โฆษณานี้พยายามตอกย้ำความคิดแบบผู้ชายๆ ว่า ผู้หญิงเท่านั้นที่ต้องสนองผู้ชาย ทว่าถ้าเราบอกแบบนี้กับคนที่คิดโฆษณานี้ เขาก็จะตอบแบบไสหัวไปตามถนน ว่า ผู้หญิงในโฆษณาก็แค่จะปิดไฟนอน ก็ได้ ในประโยคต่างๆ ก็ไม่มีอะไรส่อเลยแม้แต่น้อย เขาก็คงจะด่ากลับว่าอีพวกเฟมินิสต์นี้ประสาทแดก หาเรื่อง
แต่ขอบอกว่า ข้าพเจ้ามิได้เป็นเฟมินิสต์ แต่อย่างใด ข้าพเจ้าออกจะไปในทาง
หญิงเหยียดหญิงเสียด้วยซ้ำ
แต่ข้าพเจ้าเชื่อในการชำแหละความคิดของมนุษย์ ว่ามันล้วนมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง บางครั้งข้าพเจ้าก็อาจก่นด่าผู้หญิงโง่ที่ทำตามสังคมโดยไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าตัวเองกำลังเป็นเหยื่อของสังคม แต่บางครั้งข้าพเจ้าก็อาจจะชื่นชมผู้หญิงที่ออกมาแก้ผ้าถ่ายแบบโป๊ โดยไม่ต้องพึ่งพิงคำว่ายากจน หรือถูกบังคับ อยากถ่ายก็ถ่าย ถ่ายแล้วได้เงินก็ทำไป แต่อย่าทำโดยไร้สติ ทำแล้วก็ต้องยอมรับความจริงต่อสิ่งที่จะตามมา ไม่ว่าจะด่าหรือชม
แต่สำหรับ “การโฆษณา” นั้น ข้าพเจ้าขอสารภาพว่า ข้าพเจ้ามิเคย “เชื่อ” มันเลยแม้แต่น้อย พวกเราอยู่ท่ามกลางการดูโฆษณาจนชาชิน และลืมที่จะโต้แย้งกับมันมานาน ลืมที่จะตั้งข้อสงสัยกับมัน จนกระทั่งทุกวันนี้ เศรษฐกิจและสังคมของเรากำลังขับเคลื่อนด้วยแรงโฆษณา เด็กในวันนี้จึงเติบโตมากับสิ่งจอมปลอม และคิดว่าชีวิตจอมปลอมนี้คือของจริง

midorikwa express


Hi fucking world, I'm fine!!!